26-11-2562

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนอันตรายจากการกินอาหารผสมกัญชา เนื่องจากออกฤทธิ์ได้เหมือนการเสพ

   นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 สามารถนำกัญชาไปทำการศึกษาวิจัย และพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุม ของแพทย์เท่านั้น ในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการยกเว้น หรืออนุญาตให้ผลิต หรือนำเข้ากัญชาที่ผสมในอาหาร หรือเครื่องดื่ม แต่มีบางประเทศ อนุญาตให้นำกัญชาผสมในขนม อาหาร หรือเครื่องดื่มชนิดต่างๆ และประชาชนสามารถใช้ได้เองอย่างถูกกฎหมาย ในรูปแบบของ คุกกี้ บราวนี่ ช็อกโกเลต ลูกอม อมยิ้ม เยลลี่ ขนมขบเคี้ยว หรือเครื่องดื่ม แต่มีการควบคุมคุณภาพในการผลิต ไม่มีสารอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มีการจำกัดปริมาณและต้องมีฉลากระบุปริมาณของสารไว้อย่างชัดเจนภายใต้กฎหมายควบคุม และบรรจุในภาชนะที่ป้องกันเด็ก เนื่องจากอาจเข้าใจผิดว่าเป็นขนมเพราะส่วนใหญ่จะมี สี กลิ่น รส น่ารับประทาน จนทำให้เกิดอันตราย

   อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กัญชามีสารสำคัญตัวหนึ่งคือ ทีเอชซี ซึ่งจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้อารมณ์ดี หัวเราะและหัวใจเต้นเร็ว ต่อมาจะกดประสาททำให้ผู้เสพมีอาการมีนงง เซื่องซึมและง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมาก จะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้ ปัจจุบันมีการนำมาใช้ในทางที่ผิดโดยการสูบ เคี้ยว หรือผสมกัญชาลงในอาหาร ซึ่งการรับประทานอาหารที่ผสมกัญชา ออกฤทธิ์ได้เช่นเดียวกับการเสพ แต่ช้ากว่า จึงพบอาการข้างเคียงจากการใช้กัญชาในปริมาณเกินขนาดจนเกิดอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม การออกฤทธิ์จะขึ้นกับชนิด ปริมาณของสารสำคัญ และการตอบสนองที่แตกต่างกันในแต่ละคน การรับประทานจะไม่ทำให้กลิ่นติดตัวเหมือนการสูบ จึงนิยมใช้ในสถานบันเทิง การผสมในอาหารส่วนใหญ่จะมีสี กลิ่น และรสที่น่ารับประทาน จะไม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกว่ามีกัญชาผสมหรือไม่ ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง และไม่รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้