26-11-2562

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานอาชีวศึกษา

   นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ณ หอประชุมวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พร้อมกล่าวว่า การประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในครั้งนี้เป็นการประชุม ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะรัฐ และผู้รับใบอนุญาตสถานศึกษาอาชีวะเอกชนจะได้มารับทราบนโยบายการจัดอาชีวศึกษาร่วมกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีประเด็นที่จะเน้นย้ำกับผู้บริหารสถานศึกษาและผู้รับใบอนุญาต ในเรื่องของการพัฒนาอาชีวศึกษาให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษามากที่สุดในทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการเพราะ การอาชีวศึกษาไทยจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การทำงานกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต รัฐบาลต้องการที่จะผลักดันให้ประเทศ มีพื้นที่ในเวทีโลกตามศักยกาพที่มี โดยปัจจุบันไทยเรายังไม่มีสิ่งที่ตอบโจทย์จึงจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ ถ้าหากเราจะผลักดันให้ประเทศมีความสำคัญในระดับต้นของอาเซียนหรือของโลก จึงต้องมีการขับเคลื่อน การอาชีวศึกษาเพราะในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้านั้นได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก โดยต้องมีการ ทำความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันและต้องคำนึกของเด็กอาชีวะเป็นสำคัญ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ความสามารถด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษหากเพิ่มให้มีทักษะที่ดีจะทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งต้องมีการลงทุน รวมถึงต้องมีความร่วมมือกับภาคเอกชน มีความร่วมมือกับหน่วยงานภายในกระทรวงเอง เช่นกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานบูรณาการด้านการศึกษา เป็นต้น

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพกับสายสามัญ ที่จะต้องทำให้ได้ 50:50 ในปีหน้านั้น กระทรวงศึกษาธิการอาจไม่คาดการณ์เพียงเท่านี้แล้ว เพราะได้มีการคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ โดยขอให้ภาคธุรกิจไปหารือกันเองก่อนว่า มีความต้องการบุคลากรด้านใดบ้าง แต่ละธุรกิจต้องการคนที่มีศักยภาพอย่างไร จากนั้นค่อยมาหารือและวางแผนร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือต้องมีพื้นที่ให้เด็กได้ฝึกงาน ส่วนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของอาชีวศึกษา ในระยะเวลาอันสั้นนี้ กระทรวงศึกษาธิการ อาจจะต้องไปหารือกับทางอุดมศึกษาว่า ในขณะที่ผู้เรียนอุดมศึกษากำลังลดน้อยลงจะสามารถให้บุคลากรมาช่วยสอนได้หรือไม่ ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้ได้บุคลากรที่ตรงกับสายงาน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสร้างศักยภาพให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษาได้อย่างแน่นอน

   ด้าน นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาชีวศึกษาจำเป็นต้องพัฒนากำลังคนทั้งในระบบ และระยะสั้น เพื่อรองรับการเป็นประเทศไทย 4.0 โดยในระบบ จะต้องมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปริมาณ และคุณภาพ พัฒนากำลังคนที่มีทักษะขั้นสูง ให้สามารถนำความรู้และทักษะมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ โดยผลิตกำลังคนในสาขาใหม่ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์- ครบวงจร ส่วนการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น จะมุ่งเน้นการสร้างอาชีพให้กับผู้ว่างงาน ยกระดับศักยภาพและพัฒนาทักษะกำลังแรงงาน