28-11-2562

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ส่งต่อทูตเยาวชน JENESYS 2019

   นางอติพร สุวรรณ หัวหน้างานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย ให้ความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย คัดเลือก 16 เยาวชนไทยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ในโครงการ JENESYS 2019 (เจเนสิส 2019) ศึกษาดูงาน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ณ กรุงโตเกียว และจังหวัดนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น

   ทั้งนี้ สวทช. เป็นผู้ประสานการดำเนินโครงการคัดเลือกเยาวชนทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย มา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2015 โดยในปีนี้ได้ทำการคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโครงการต่าง ๆ ที่ สวทช. ดูแล ไม่ว่าจะเป็นโครงการ JSTP โครงการรับนักเรียน ม.ปลายฝึกทักษะวิจัย ณ ศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. ซึ่งกลุ่มนี้ จะเป็นนักเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์ และ สวทช. ยังคัดเลือกจากนักเรียนที่เข้ามาอบรม ในโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร รวมถึงนักเรียนที่อยู่ในโครงการ FabLab ด้วย รวมทั้งหมดจากที่ได้มีการส่งใบสมัครเข้ามาเป็นจำนวนนักเรียน 69 คน จากนั้น จึงคัดเลือกมา 30 คนเพื่อรับการสัมภาษณ์ และคัดเลือกรอบสุดท้ายเหลือ 16 คนเพื่อเป็นทูตวิทยาศาสตร์ที่จะไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ที่กรุงโตเกียวและจังหวัดนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นโอกาสที่เด็ก ๆ นักเรียนของไทย จะได้มีโอกาสไปเข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ ในต่างประเทศที่ประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งการไปเข้าร่วมกิจกรรม ในครั้งนี้จะได้ไปเยี่ยมชมบริษัทภาคเอกชนชั้นนำ แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมขึ้นชื่อ รวมทั้ง ได้ไปอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่หรือครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งน้อง ๆ จะได้เรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นเองด้วย

   ด้าน นางสาวมิโทะนะ เอ็นโดะ ผู้แทนเลขานุการเอก สำนักข่าวสารญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับหัวข้อของ JENESYS 2019 ครั้งนี้กับทาง สวทช. จะเป็นหัวข้อในเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจะดูที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเป็นสำคัญ โดยในครั้งนี้จะได้เดินทางไปกรุงโตเกียว และจังหวัดนีงาตะ สำหรับที่กรุงโตเกียวน้อง ๆ จะได้ไปดูที่สถาบันเทคโนโลยีโตเกียว ศูนย์พานาโซนิค บริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงบริษัทชั้นนำด้านโลจิสติกส์ที่โด่งดังมาก ของญี่ปุ่นซึ่งขนส่งไปรษณีย์ต่าง ๆ ให้อย่างตรงเวลา นอกจากนี้ ยังมีโอกาสไปเยี่ยมชมบริษัท ที่นักวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่ที่นักวิจัยทำงานร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมา

   ส่วนที่จังหวัดนีงาตะ ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศญี่ปุ่น จะได้ไปเยี่ยมชมบริษัทเก่าแก่ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในการทำสีฉนวนและอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังจะได้ไปสถาบันแห่งชาติของทางจังหวัดนีงาตะด้วย รวมทั้งไปดูพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเมืองสึบาเมะ และศูนย์ช่างตีเหล็กซันโจ ที่มีชื่อในเรื่องการทำเครื่องเงิน เครื่องทองแดง และหัตถกรรมพื้นบ้านผสมผสานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะญี่ปุ่น นับว่าปี 2019 นี้เพิ่มเติมสถานที่ ให้เยาวชนได้ไปศึกษาดูงานหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการไปดูงานอย่างเข้มข้นในภาคเอกชน เพื่อให้น้อง ๆ ได้รู้จักประเทศญี่ปุ่น ได้ไปศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสามารถนำกลับมาเผยแพร่ให้กับน้อง ๆ เพื่อน ๆ และครอบครัวในประเทศไทย ให้ได้รับรู้ว่า ประเทศญี่ปุ่น มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบนี้ และมีความแตกต่างกับประเทศไทยอย่างไร สามารถคิดวิเคราะห์ออกมา และนำมาพัฒนาประเทศไทยต่อไป หรือ อาจจะได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น หรือไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นต่อไปได้