02-12-2562

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้า 4 โครงการเพื่อยกระดับการศึกษา

   ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานในกำกับและเครือข่าย ทั้งสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ สำนักงาน กศน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนหรือ สช. และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เพื่อวางแผนการพัฒนาขับเคลื่อนงานตามนโยบายให้เป็นรูปธรรม โดยได้ข้อสรุปที่จะดำเนินการใน 4 โครงการ เพื่อมุ่งไปสู่การยกระดับ พัฒนาการศึกษา พร้อมทั้งบูรณาการจัดการศึกษาร่วมกับภาคีเครือข่ายให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรและประชาชนทุกช่วงวัยอย่างคุ้มค่าสูงสุดในการเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริม สนับสนุนโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึง ความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างแท้จริง

   ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการที่เตรียมเดินหน้าเป็นโครงการแรก คือ การพัฒนาและยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเกิดจากความร่วมมือจาก 5 ภาคีเครือข่ายหลัก ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 20 แห่งในสังกัดสำนักงาน กศน. / สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ / องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ / ศูนย์ระดับภูมิภาคฯ ว่าด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศูนย์ระดับภูมิภาค ว่าด้วยสะเต็มศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ในการปรับปรุงพื้นที่บริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสร้างการรับรู้และตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีต่อคุณภาพชีวิต และส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ทันสมัยสำหรับเยาวชน และประชาชนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการบูรณาการ ถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมให้แก่บุคลากรของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และทรัพยากร ความเชี่ยวชาญจากภาคีเครือข่ายให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่ามากที่สุด

   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า โครงการที่ 2 คือ การจัดตั้ง โค-เลิร์นนิ่งสเปซ (Co - Learning Space) ในห้องสมุดหรือศูนย์การเรียน 6 แห่ง ทุกภูมิภาค โดยพัฒนารูปแบบจากเดิมเป็น Active Learning Center ด้วยการจัดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้ามาใช้บริการในรูปแบบต่างๆ กำหนดองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 ส่วน คือ จัดมุม ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ มี “อีบุ๊ค” ให้บริการ / มุมบริการคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เนต การเรียนการสอนออนไลน์ และ เปิดเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชน ที่ต้องการพัฒนาโซลูชั่นในการบริหารจัดการ โดยเชื่อมโลกการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัยให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน