26-12-2562

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตั้ง 4 จุดสังเกตการณ์ชมสุริยุปราคา

   นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่า วันนี้จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา วงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่านประเทศอินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์บางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็น ดวงอาทิตย์ถูกบดบังแตกต่างกัน ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81 ส่วนภาคเหนือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ดวงอาทิตย์จะถูกบังเพียงร้อยละ 40 กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบังประมาณร้อยละ 56

   นายศุภฤกษ์กล่าวย้ำว่า ดวงอาทิตย์นอกจากให้ความร้อนแล้ว ยังให้แสงสว่างที่มีความเข้มสูงมาก แม้ขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนหรือสุริยุปราคาวงแหวน แสงอาทิตย์ก็ยังเป็นอันตรายต่อสายตาจนส่งผลให้ตาบอดได้ทันที ดังนั้น ห้ามมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า และห้ามมองภาพที่ส่องจากเลนส์กล้องไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง ใช้อุปกรณ์กรองแสงช่วยสังเกตการณ์และใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ควรจ้อง ดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง ซึ่งการสังเกตการณ์มีหลากหลายวิธีทั้งทางตรงและทางอ้อม

   สำหรับการจัดกิจกรรม “สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย” ในวันนี้ สดร. เตรียมพร้อม ตั้งจุดสังเกตการณ์สุริยุปราคาอย่างปลอดภัย 4 จุดใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ – อุทยานดาราศาสตร์ สิรินธร อ. แม่ริม / ฉะเชิงเทรา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อำเภอแปลงยาว/ นครราชสีมา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สงขลา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา อำเภอเมือง แต่ละจุดตั้งกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์สังเกตการณ์คุณภาพสูง และอุปกรณ์สังเกตการณ์ ดวงอาทิตย์หลากหลายแบบ พร้อมผู้เชี่ยวชาญจาก สดร. คอยให้ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคา นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 410 แห่ง ทั่วประเทศ ร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย สดร. ได้เตรียมอุปกรณ์สังเกตดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย ให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมชมสุริยุปราคาครั้งนี้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. เข้าร่วมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ฟิล์มเอกซเรย์ ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์ แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ ถึงแม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตา การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง จึงต้องมีอุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ขณะทำการสังเกต ไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง และควรหยุดพักเป็นระยะๆเพื่อให้เกิดความปลอดภัย วิธีสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง การสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์ติดแผ่นกรองแสง แผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ แว่นดูดวงอาทิตย์ ที่ทำจากแผ่นแบล็คพอลิเมอร์ แผ่นอะลูมิเนียมไมลาร์ และกระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะเบอร์ 14 หรือมากกว่า

วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพ หรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตราย ต่อดวงตา และช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคนด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา การฉายภาพดวงอาทิตย์ จากโซลาร์สโคป การประดิษฐ์กล้องรูเข็ม โดยการเจาะรูบนวัสดุทึบแสงและให้แสงดวงอาทิตย์ ลอดผ่านรูที่เจาะไว้ตกลงบนฉากรับ

   ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ www.narit.or.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจของ สดร. ที่ www.facebook.com/NARITpage ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปสังเกตการณ์ หรืออยู่ในทำเลฟ้าปิด สามารถติดตามถ่ายทอดสดและสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทยจากจุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 จุด และสุริยุปราคาวงแหวนจากต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์และเพจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เช่นเดียวกัน