20-01-2563

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ 8 หน่วยงาน เปิดตัวโครงการประเทศไทยในอนาคต ศึกษา

   ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การศึกษาวิเคราะห์ภาพอนาคตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนารวมทั้งการตั้งรับกับสิ่งที่ไม่คาดหวัง ดังนั้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จึงสนับสนุนการวิจัย “โครงการประเทศไทยในอนาคต” หรือ Future Thailand เพื่อวิเคราะห์รายละเอียดภาพของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยร่วมมือกับนักวิจัยแกนกลาง 50 คน และทีมวิจัยอีกประมาณ 200 คนจาก 8 หน่วยงานและสถาบันวิจัยชั้นนำระดับประเทศ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันพระปกเกล้า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสภา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยท้าทายไทย ซึ่งจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนโดยจะมีการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นแบบแผน ระยะวิจัยโครงการ 1 ปี มุ่งเน้นใน 10 มิติสำคัญ คือ ประชากรและโครงสร้างสังคม / สังคม ชนบท ท้องถิ่น / การศึกษา / สิ่งแวดล้อมและพลังงาน / เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม / เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ / วัฒนธรรมและภาษาไทย หรืออัตลักษณ์ความเป็นไทย / การเมือง / บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ และคนและความเป็นเมือง โดยมิติต่างๆ จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยภายในระยะเวลา 1 ปี จะได้ภาพอนาคตประเทศไทยในช่วง 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี ข้างหน้า เมื่อครบ 1 ปี จะทำให้ได้ภาพอนาคตประเทศไทยที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งในระยะต่อไปอาจจะลงละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้น และนอกจากจะได้เห็นภาพแล้วจะมีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายอีกด้วย

   สำหรับเป้าหมายสูงสุดของโครงการโครงการประเทศไทยในอนาคต ศึกษาวิเคราะห์ภาพของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า เลขาธิการ วช. กล่าวว่า ประการแรกคือ ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเห็นภาพอนาคตของประเทศไทยร่วมกัน โครงการนี้จึงไม่ได้เขียนโดยนักวิจัยไม่กี่คน แต่การได้มาซึ่งภาพนี้จะมาจากการประมวลผลภาพจากความคิดเห็นของทุก ๆ ภาคส่วน สำหรับประการที่สอง เราไม่ได้ต้องการเห็นเฉพาะภาพว่าเป็นอย่างไร แต่จะต้องตามมาด้วยภาพที่พึงประสงค์จะเป็นแบบนี้จะต้องดำเนินการอย่างไร ขณะเดียวกันเราต้องการที่จะเห็นว่าอาจมีภาพที่ไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งภาพที่ไม่พึงประสงค์นี้เราจะได้ช่วยกันป้องกัน ทั้งนี้ โครงการลักษณะนี้กลไกการมีส่วนร่วมถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ