26-02-2563

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับภาคีเครือข่าย ถอดบทเรียนการดำเนินงาน ในพื้นที่ผ่านรูปแบบ

   นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่าโครงการนี้เริ่มดำเนินการในปี 2562 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราโดยกระบวนการเชิงพุทธ และเพื่อศึกษากลไกการ บูรณาการรูปแบบการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยกระบวนการเชิงพุทธสู่การบำบัดดูแลผู้มีปัญหา การดื่มสุราในระบบสุขภาพและนอกระบบสุขภาพ ซึ่งมีการทำงานนำร่องใน 25 ชุมชน 25 วัด ในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งค้นพบผู้มีปัญหาจากการดื่มสุรา 411 คน สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 298 คน เมื่อผ่านกระบวนการต่าง ๆ สามารถเลิกดื่มได้ 53 คน คิดเป็นร้อยละ 17.8 และลดระดับการดื่ม 227 คน คิดเป็นร้อยละ 76.2 นับเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจากการทำงานที่จริงจัง โดยมีสามแกนหลักสำคัญ ประกอบด้วย พระสงฆ์, ผู้นำศาสนา / บุคลากรทางสุขภาพในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. และผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทั้งสามฝ่ายวางเป้าหมายร่วมกันที่ตัวผู้ดื่มซึ่งมีปัญหาให้เกิดการปรับเปลี่ยนทั้งภายนอกและภายในจน ลด ละ และเลิก ได้ในที่สุด หลังจากนี้จะมีการขยายผลทำงานร่วมกับชุมชนอื่น ๆ ที่สนใจ เพื่อให้แนวทางนี้เดินหน้าต่อไป สสส. พร้อมสนับสนุนการทำงานที่สามารถบูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่าย จนเกิดรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มจุดเล็ก ๆ แต่เข้มแข็ง และพร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกันกับชุมชนอื่นที่มีปัญหาด้วยความเชื่อมั่นว่าคนทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีกว่าได้ด้วยการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

   ด้าน นางสาวดวงใจ สอนเสนา พยาบาลปฏิบัติการ ตัวแทนบุคลากรสุขภาพจาากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลปอพาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชุมชนมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาคมงดเหล้าอยู่แล้ว เนื่องจากในพื้นที่มีปัญหาการดื่มสุรา ส่งผลเสียชัดเจน ทั้งสุขภาพ หนี้สิน ความรุนแรงในครอบครัว ภรรยา ที่ได้รับความรุนแรง ถูกสามีเวลาเมาทำร้าย ทุบตี รอยช้ำตามตัว มาให้ทำแผลทุกอาทิตย์ หลายรายที่ทุกข์ใจ มาขอรับคำปรึกษา มีภาวะเครียด อีกทั้งยังมีปัญหาอุบัติเหตุเมาแล้วขับเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีการเสียชีวิต อาทิหลอดเลือดในสมองแตกเพราะดื่มหนัก หัวใจวาย เมื่อตรวจสอบประวัติการ มาจากการดื่มสุราทั้งสิ้น

   ทั้งนี้ เมื่อมีโครงการฯนี้เข้ามาตั้งแต่ปี 2562 ทำให้รู้ว่า คนที่ดื่มสามารถเลิกได้เอง ไม่จำเป็นต้องบำบัด ขอแค่มีใจรัก เข้มแข็งอดทนเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ซึ่งโครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ มีจุดแข็งเพราะชุมชน/ ผู้นำ และพระสงฆ์มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ลดละเลิกการดื่ม ผู้สมัครใจเขารู้สึกดีมากที่เวลาเดินตาม พระไปบิณฑบาต แล้วได้รับคำชมเชยจากคนในหมู่บ้าน ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น จึงขอฝากว่า หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน สร้างการมีส่วนร่วมเอาชนะภัยน้ำเมาเริ่มจาก 1 คน ต่อยอดไปเรื่อย ๆ สักวันมันจะประสบความสำเร็จได้

   ขณะที่ พระอธิการสุชาติ เดชดี เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยปอพาน อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า คนในชุมชนดื่มเหล้าหนักมาก หลายคนติดเหล้าและไม่มีคนช่วย ทางวัดจึงได้เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยใช้กระบวนการทางพุทธศาสนาสร้างพลังการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. คัดกรองมีผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ทั้งหมด 12 ราย นุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดเป็นเวลา 7 วัน มีกิจกรรมให้ทำ อาทิ สวดมนต์ไหว้พระ / เดินบิณฑบาตตอนเช้า / อบรมฟังธรรม / ทำจิตใจให้ว่าง / รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ / ร่วมหาแนวทางลดละเลิก ซึ่งสามารถเลิกเหล้าได้ 5 ราย ส่วนอีก7ราย ลดการดื่มลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

   ด้าน นายอะรัน เปรมปรี อายุ50ปี ชาวบ้านที่ติดสุราและเลิกได้สำเร็จ กล่าวว่า ตนใช้ชีวิตในวงเหล้าตั้งแต่อายุ 17 ปี มาทำงานที่กรุงเทพมหานคร เป็นเด็กชงเหล้า ที่เหลือจากแก้วก็นำมาดื่มเอง พอแต่งงานก็ย้ายไปอยู่กินกับภรรยาที่บุรีรัมย์ มีลูกด้วยกัน 2 คน ในหมู่บ้านเป็นชาวเขมร นิยมดื่มเหล้าขาว ทุกคนในครอบครัวดื่มประมาณวันละ 1 ขวดใหญ่ต่อคน แต่ถ้ามีงานเลี้ยง งานอะไรที่เป็นพิเศษจะดื่มมากกว่านั้น ส่วนอาชีพที่ทำคือ กรีดยางพารา ช่วงกรีดยางก็จะพกขวดเหล้ามาดื่ม หลังเลิกงานก็ดื่มอีกขวดเล็ก ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้ ซึ่งเคยเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุรานับสิบครั้ง และต้องถูกไล่ออกจากงานเพราะดื่มเหล้า หนักสุด คือ ที่นา 8 ไร่ ของภรรยา ต้องหมดไปกับการขายนำเงินมาซื้อเหล้า กระทั่งปี 2555 ภรรยาเสียชีวิตจากไตวาย พอลูกโตดูแลตัวเองได้ จึงย้ายมาอยู่บ้านเกิดตำบลปอพาน เมื่อแต่งงานใหม่ ก็ยังมีนิสัยดื่มเหล้าเหมือนเดิม ยิ่งทำงานยิ่งดื่มเยอะ เงินรับจ้างรายวันก็หมดไปกับเหล้า มีหนี้สินมากขึ้น

   นายอะรัน กล่าวต่อไปว่า สำหรับจุดเปลี่ยนที่ทำให้ได้เข้าร่วมโครงการนี้ คือ เกิดอาการเหนื่อยงาน หายใจไม่อิ่ม ทะเลาะกับภรรยา พอมีประกาศเสียงตามสายในหมูบ้านจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ โดยอาการของวันที่ 1-3 วันแรก หงุดหงิด มือสั่น พระอาจารย์ก็สอนธรรมะ สอนการใช้ชีวิต จนทำให้คิดว่าคนที่เคยดื่ม ยังเลิกได้ เราก็ต้องทำได้ ยิ่งได้ใส่ชุดขาว มันทำให้รู้สึกมีคุณค่าขาวสะอาด เวลาออกบิณฑบาตตอนเช้ากับ พระอาจารย์ยิ่งรู้สึกดี มีคนยอมรับ คนมาให้กำลังใจ พอออกจากค่าย 7 วัน กลับมาบ้านก็ไม่กลับไปแตะเหล้าอีกเลย แม้จะต้องไปนั่งในวงเหล้าก็ยับยั้งช่างใจได้ ซึ่งได้กำลังใจจากภรรยา และญาติในครอบครัว ซึ่งทุกคนดีใจที่ตนเลิกเหล้าได้สำเร็จ โดยมีพลังชุมชนที่เป็นสำคัญอีกด้วย