10-03-2563

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญา เรียน 6 ปี รับวุฒิปริญญาตรีแพทย์ – ปริญญาโท วิศวกรรมชีวเวช เริ่มปีการศึกษา 2563 ศกนี้

   ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปี 2563 นี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลง และการเริ่มต้นครั้งใหม่ที่จุฬาฯ ได้เปิดโครงการหลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช ซึ่งจุดเด่น คือ บัณฑิตที่จบการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา ประกอบไปด้วย ปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต และ ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษา 6 ปี เป็นหลักสูตรมุ่งผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญทั้งสาขาแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมชีวเวช ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเหมาะกับนิสิตแพทย์ที่มีศักยภาพ และความสนใจ ด้านวิศวกรรมชีวเวช ต้องการเป็นแพทย์นักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสาขาแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวช ที่สร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม

   โดย จะรับนิสิตเข้าโปรแกรมนี้ ปีละ 30 คน ซึ่งในชั้นปีที่ 1 และ ปีที่ 2 จะเรียนรายวิชาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกับนิสิตแพทย์คนอื่น ในปีที่ 3 จะมีหมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต ซึ่งทางคณะวิศวะได้เปิดรายวิชารอรับให้ทดลองเรียนว่าชอบหรือไม่ ถ้ามั่นใจแล้วว่าชอบก็สามารถไปพบกับอาจารย์ที่ปรึกษาทางคณะวิศวะและใช้ 6 หน่วยกิตนี้ศึกษาในทางลึกในภาคต้นได้ เมื่อจบ ชั้นปีที่ 3 เรียนรายวิชาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตครบ 120 หน่วยกิต และมีคุณสมบัติตามที่ คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนด จะมีสิทธิ์สมัครเข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช ที่ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 2 ปีได้ จากนั้นนิสิตที่ได้รับการคัดเลือก จะเรียนรายวิชาชั้นปีที่ 4-6 ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตร่วมกับนิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตคนอื่นควบคู่ไปกับการสัมมนา และการทำวิทยานิพนธ์ในหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ในช่วงเวลาวิชาเฉพาะเพื่อส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียน หรือช่วงนอกเวลา ซึ่งจะเรียนจบ 2 ปริญญาภายใน 6 ปีได้

   คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าศึกษาในโปรแกรมนี้ สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 ที่เรียนหลักสูตรปัจจุบันอยู่ ในปีการศึกษา 2563 นิสิตสามารถสมัครเข้าโครงการนี้ได้เลย ส่วนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถสมัครสอบคัดเลือกได้ตามระบบ TCAS รอบที่ 1-3 โดยสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันเริ่มสมัครผ่านระบบ TCAS 63 ในวันที่ 17-27 เมษายน 2563 โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางอีเมล aamdcu@gmail.com สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายใน การเรียน จะจัดเก็บค่าเล่าเรียนทั้งสองหลักสูตรในอัตราตามประกาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ทางโครงการฯ จะคัดเลือก และให้ทุนแก่นิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช 10 คน ต่อปีการศึกษา

   ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักสูตรสหสาขาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2549 โดยริเริ่มขึ้นจากความร่วมมือหลักระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งจุดเด่นของหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คือ ความร่วมมือ ที่เข้มแข็งของทั้งสองคณะที่ร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัยที่ท้าทาย และตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาที่พบอยู่จริงในการแพทย์ในปัจจุบัน นิสิตที่เรียนในหลักสูตรฯ จะมีอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่าน ท่านหนึ่งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และอีกท่านหนึ่งจากคณะแพทยศาสตร์ซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี และเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของเทคโนโลยีการแพทย์ นอกจากนี้ หลักสูตรยังได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์สายสุขภาพอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญานี้ จะเปิดโอกาสให้นิสิตแพทย์ระดับปริญญาตรีที่มีความสนใจด้านวิศวกรรมชีวเวช สร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้วิจัยและนวัตกรรมต่อไป