11-03-2563

สสส.ปลุกกระแสสุขภาพ “เพราะรักจึงผักนำ” ชี้ผักช่วยกวาดสิ่งหมักหมมในลำไส้ แนะวิธีเลือกกิน “ผักตามฤดูกาล” ลดเสี่ยงสารเคมี

   ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า สสส. อยากชวนคนไทยมอบสิ่งดี ๆ แก่คนที่เรารักด้วยการส่งเสริมการรับประทานผักมากขึ้น ให้ทุกมื้อมีผักนำ องค์การอนามัยโลกคาดประมาณว่า การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของประชากรโลกกว่า 5.2 ล้านคน เป็นผลมาจากการบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ สสส. โดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ จึงได้รณรงค์ผ่านโครงการ “ผลักดันให้ผักนำ” เพื่อช่วยลดปัญหาการเจ็บป่วยและการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเกี่ยวกับอาหาร ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยส่งเสริมมาตรการให้เกษตรกรปลูกผักปลอดภัยหรืออินทรีย์ เชื่อมโยงผลผลิตผ่านการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเข้าครัวโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2579 ทั้งนี้ สสส. สร้างความตระหนักผ่านการสื่อสารรณรงค์ในสังคม

   โดยพัฒนาเป็นชุดความรู้ ผลิตภาพยนตร์โฆษณาชุด “ผักนำ” สร้างการรับรู้ถึงการบริโภคอาหารที่ทุกมื้อควรมี ผักครึ่งจาน ส่วนอีกครึ่งจานเป็นคาร์โบไฮเดรทและโปรตีน และสื่อออนไลน์ 2 เรื่อง คือ ชุด “ผักบุ้ง” และ “กวางตุ้ง” พร้อมทั้งปฏิทินผักตามฤดูกาลที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกรับประทานผักที่ปลอดภัยควรเลือก “ผักตามฤดูกาล ลดเสี่ยงสารเคมี” ผักที่เติบโตตามธรรมชาติ เกษตรกรไม่ต้องพึ่งสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเพราะผักตามฤดูกาลมีความต้านทานโรคสูง

   ด้าน นางสาวสิรินทร์ยา พูลเกิด ผู้จัดการแผนงานนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย ปี 2562 พบว่า ส่วนใหญ่คนโสด คนที่มีการศึกษาตั้งแต่มัธยมขึ้นไป หรือ อายุ 15 ปีขึ้นไป มีโอกาสกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า ขณะที่ผู้ชายกินผักน้อยเพิ่มขึ้น 1.32 เท่า เมื่อศึกษาลงไปถึงอาชีพ พบว่า คนทำงานบริษัทมีโอกาสกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอเพิ่มขึ้น 2.52 เท่า สำหรับคนที่กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่แม่และภรรยาเป็นผู้หาผักและผลไม้เป็นหลัก ดังนั้น สะท้อนว่า คนที่เรารักเป็นคนสำคัญทำให้คนในครอบครัวได้กินผักและผลไม้เพียงพอในแต่ละวัน ส่วนแหล่งที่ซื้อผักบ่อยที่สุดและสำคัญที่สุด คือ ตลาดสด รองลงมาร้านขายของชำ และร้านรถเข็น หาบเร่ โดยจากผลการสำรวจยังพบว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายส่งเสริมการกินผักและผลไม้ กลุ่มกินผักผลไม้เพียงพอเน้นสนับสนุนนโยบายส่งเสริมให้คนไทยปลูกผักสวนครัวกินเอง ขณะที่กลุ่มที่กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอสนับสนุนนโยบายด้านทำผักและผลไม้ให้ปลอดภัย และปลอดสารพิษ ส่วนมาตรการระดับบุคคล ควรรณรงค์ให้ความรู้ กระตุ้นให้ตระหนักเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเรื่องการกินทั้งผักและผลไม้ให้เพียงพอ ต่อวัน รวมถึงการทำความสะอาดผักผลไม้ ส่งเสริมการกินผัก ส่งเสริมทักษะ การปลูกผักและผลไม้เองที่บ้าน สำหรับมาตรการระดับสิ่งแวดล้อม ต้องเพิ่มการเข้าถึงผักผลไม้ทุกชนิด เพื่อเพิ่มการซื้อและการกินผักผลไม้ ทุกขนาด ทั้งที่ตลาดสด ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ และสถานที่ทำงานในแหล่งที่ขายอาหารหรือให้บริการอาหาร ส่วนที่บ้านก็ปลูกผักผลไม้ ชวนกันปลูกผัก อยากเน้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินผักและผลไม้ เพราะให้ทั้งสุขภาพและความอร่อย

   ขณะที่ ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หนึ่งในข้อดีของการกินผัก คือ “ช่วยกวาดสิ่งหมักหมมในลำไส้” การบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมสุขภาพได้ การได้รับใยอาหาร หรือ ไฟเบอร์จากผักจะช่วยกวาดนำสิ่งหมักหมมที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ออกไป ช่วยส่งเสริมให้ระบบทางเดินอาหารสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ ลดอาการท้องผูก ป้องกันมะเร็งลำไส้ ริดสีดวงทวาร และลดการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร พร้อมทั้งมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น และยังมีประโยชน์ในการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลรักษาโรค