07-04-2563

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เตรียม 74 หลักสูตร รองรับคลื่นแรงงานกลับบ้าน จากผลกระทบโควิด-19 ชี้เป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจฐานชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ

   นางสาว ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. กล่าวว่า ในวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานยากจนด้อยโอกาส คนกลุ่มนี้ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน จนไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมือง กลายเป็นคลื่นแรงงาน กลับบ้านเกิด โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นแรงงานทักษะ 1.0-2.0 เมื่อกลับบ้านแล้วยังสามารถตั้งหลักชีวิต ตั้งตัวได้ ซึ่งในวิกฤตที่เกิดขึ้น เห็นว่าเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะปรับทิศทางการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืนโดยมีชุมชนเป็นฐาน โดย กสศ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ร่วมกับหน่วยพัฒนาอาชีพ 71 แห่ง ทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษา กศน. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น กระจายใน 42 จังหวัด 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

   ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานได้พัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ช่วยยกระดับทักษะการประกอบอาชีพแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวน 74 หลักสูตร อาทิ เกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ ผู้ประกอบการผ้าไหม ขนาดย่อม เครื่องปั้นดินเผา ระบบประกอบการสังคมออนไลน์ นักขายมือทอง นวดไทยเพื่อสุขภาพ การทำคุกกี้ครบวงจร การทำเครื่องแกงพื้นบ้าน โดยระบบต้นแบบของ กสศ. สามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ว่างงาน ผู้ถือบัตรสวัสดิการคนจน เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ได้จำนวน 6,055 คน ทั้งนี้สามารถดูสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แผนที่ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของ กสศ. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2079-5475