13-04-2563

สสส.กำชับเครือข่ายตำบลสุขภาวะเข้มมาตรการชุมชนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด–19

   นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนท้องถิ่นดำเนินโครงการเฝ้าระวังโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ โดยจัดสรรงบประมาณให้แก่ตำบลสุขภาวะ 54 แห่ง และเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น /คณะกรรมการพัฒนาตำบลอีก 424 ตำบล รวม 478 ตำบล เพื่อทำแนวทางเฝ้าระวัง ควบคุม และกำหนดมาตรการชุมชนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด–19 พร้อมกำชับให้ภาคีเครือข่ายตำบลสุขภาวะทั้ง 2,979 ตำบล เข้มงวดมาตรการชุมชนด้วย ในหลายพื้นที่ตื่นตัวป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิเทศบาลตำบลวาปีปทุม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม พัฒนานวัตกรรม “ตู้ต้านโควิด” เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมาช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยใช้น้ำอิเล็กโทรไลซ์ ค่า PH 5.5-6.5 ชนิดกรดอ่อนใกล้เคียงกับสภาวะผิวหนังคน ไม่ทำให้กัดกร่อน เป็นกรดไฮโปคลอรัส ความเข้มข้น 20-30 PPm มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรียและไวรัสได้มากกว่าร้อยละ 99 ทดแทนแอลกอฮอล์ ซึ่งเทศบาลได้ทำประดิษฐ์ ตู้ต้านโควิค-19 ครั้งแรกจำนวน 3 ตู้

   เทศบาลตำบลวาปีปทุม ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตัวทั้งกลุ่มเสี่ยงและไม่เสี่ยงอย่างเข้มข้น และใช้ประโยชน์จากข้อมูลตำบลติดตั้ง “ตู้ต้านโควิด” ไว้ที่สถานนีขนส่ง 1 จุด ตลาดสด 1 จุด เทศบาล 1 จุด เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่มีผู้คนเข้าออก ยากต่อการควบคุมและคัดกรอง สำหรับตู้ต้านโควิด เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ มีการกำหนดจุดให้ผู้เดินทางมีระยะห่างทางสังคม ยืนตามจุดที่กำหนดห่างกัน 1 เมตร ล้างมือที่อ่างล้างมือก่อน เช็ดมือให้แห้ง ก่อนเข้าตู้ต้านโควิด -19 เพื่อฆ่าเชื้อโรค 10 วินาทีต่อคน นอกจากนี้ยังทำอ่างล้างมือเคลื่อนที่ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์จากขยะรีไซเคิลโดยนำมาดัดแปลงเป็นอ่างล้างมือเอนกประสงค์ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงล้างมือทำความสะอาดฆ่าเชื้อคลอบคลุมทุกพื้นที่

   ด้าน นายสมเกียรติ เกรียงไกรอนันต์ นายกเทศมนตรีตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์ประสานงานลดโลกร้อน (ศปง.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า ทางเทศบาลฯ ได้ประสานความร่วมมือกันทั้ง 4 องค์กรหลัก ทั้งเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด มีการประชุมรายงานสถานการณ์เป็นระยะ จนถึงวันนี้สถานการณ์ในพื้นที่ยังปกติ ประชาชนไม่ตื่นตระหนกเพราะทุกคนดูแลตัวเองเป็นอย่างดี มีการใช้เสียงตามสายไปยัง 17 หมู่บ้าน สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่เข้าสู่พื้นที่ต้องผ่านจุดคัดกรองที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งกลไกที่ช่วยให้เทศบาลตำบลไทรย้อยทำงานอย่างมั่นใจคือมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. ที่เข้มแข็ง คอยออกตรวจ คัดกรองตามชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานครและต่างประเทศ และขณะนี้เทศบาลได้เร่งจัดซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิแบบเลเซอร์ด้วยงบของเทศบาลเองให้ทั้ง 17 หมู่บ้าน พร้อมมอบเจลแอลกอฮอล์ จัดหาอุปกรณ์ทำหน้ากาก เพื่อให้ทีม อสม.ทำงานอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ