29-04-2563

สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สสส. และภาคีเครือข่าย สร้างต้นแบบ “ค้นหาผู้ป่วย COVID-19

   นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต เป็นเครื่องมือสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาความซับซ้อนของระบบในการสู้ภัยวิกฤตโควิด-19 ด้วยกลไกนี้จะมาช่วยเติมเต็มการทำงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพิ่มความยั่งยืนของระบบ ประชาชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาและเป็นเจ้าของโครงการ เป็นผู้นำในการจัดการปัญหาด้วยตนเอง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ยังคงความรุนแรงและมีแนวโน้มขยายตัวลุกลามไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ปรากฎจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุด อันเป็นผลมาจากการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นศูนย์รวมของประชากรที่มาใช้ชีวิตท่ามกลางความเจริญเติบโตทางสังคมร่วมกันกว่า 5.7 ล้านคน นโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีนโยบายค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน เพื่อให้มีความครอบคลุม ค้นหาผู้ติดโควิด-19

   นายแพทย์สำเริง กล่าวต่อไปว่า ผลงานครั้งนี้เกิดขึ้นจาก นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตบางเขน ในฐานะประธานคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับเขต หรือ พชข. ที่เห็นความสำคัญ โดยนำกลไก พชข. มาจัดการเพื่อกวาดล้างโควิด-19 ให้หมดไปจากประเทศไทย นับว่าเป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ เพื่อประชาชนได้รับการตรวจที่ครอบคลุมและปลอดภัยจากโควิด-19 ซึ่งสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง จัดทำรูปแบบโมเดล ร่วมกับกรุงเทพมหานคร นำร่องที่สำนักงานเขตบางเขน และสำนักงานเขตคลองเตย โดยความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร นำร่องที่สำนักงานเขตบางเขน จำนวน 71 ชุมชน และคลองเตย จำนวน 41 ชุมชน ภาคเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมกันรณรงค์ Kick off กิจกรรมประกอบด้วย การให้บริการชุมชน เก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ช่วงเช้าจำนวน 100 ราย ช่วงบ่าย 100 ราย รวมเป็น 200 รายต่อวัน ส่วนภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาสังคม ที่ร่วมมือสนับสนุนครั้งนี้ อาทิ สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ /สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ / สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร / องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. / โรงพยาบาลเปาโล / เกษตร ตลาดยิ่งเจริญ / คลิกนิก เทเลเมดิซีน / บริษัท MP Group (THAILAND) / มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานีตำรวจนครบาลบางเขน

   ด้าน แพทย์หญิงขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า เดิม สสส. ได้สนับสนุนให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการชุมชนเขตเมือง ในประเด็นการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยใช้ระบบที่สอดคล้องกับบริบทเขตเมือง ที่มุ่งใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 จึงต้องปรับแผนการทำงานใหม่ โดยมุ่งเสริมประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองผู้ป่วยให้ได้จำนวนต่อวันมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์การตรวจเชิงรุก และการให้ความรู้ ในมิติการดูแลกันเองภายในชุมชน หากใครเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ กังวลว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยง สามารถเข้ามารับการตรวจคัดกรองได้ ซึ่งการตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเท่านั้นที่จะเข้ารับการตรวจได้ แต่สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงและยังไม่มีอาการ สามารถเข้ารับการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้ค้นพบผู้ป่วยได้รวดเร็ดยิ่งขึ้น อันเป็นการจำกัดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนได้ทันท่วงที