08-05-2563

กระทรวงแรงงาน ออก 10 มาตรการเข้มงวดเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลีย สมาคมรังสีเทคนิคนานาชาติ กล่าวว่า UV-C (ยู-วี-ขีด-ซี) เป็นรังสียูวีที่มีความยาวคลื่นสั้น หากใช้ด้วยความเข้ม หรือระดับปริมาณที่เหมาะสม จะมีคุณสมบัติในการทำลายจุลชีพ ซึ่งรวมถึงเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ โดยความยาวคลื่นที่เหมาะสมในการทำลายเชื้อจุลชีพอยู่ที่ประมาณ 200-313 นาโนเมตร โดยค่าที่ดีที่สุดอยู่ที่ 260 นาโนเมตร ทั้งนี้ไวรัสแต่ละชนิดมีความทนต่อยูวีต่างกัน ซึ่งการทำลายเชื้อจะเกิดขึ้นเวลาที่ตัวรังสี UV เข้าไปตกกระทบกับตัวไวรัส แล้วไปทำลายโครงสร้างของตัวไวรัส ทำให้ไม่สามารถที่จะจำลองตัวเอง เพื่อที่จะขยายจำนวนได้ต่อไป เป็นการทำให้เชื้อตาย โดยที่ต้องใช้พลังงาน จากรังสี UV ที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนของรังสี UV-C ไม่ใช้ฆ่าเชื้อกับคน แต่จะใช้ฆ่าเชื้อที่อยู่บนพื้นผิววัสดุต่าง ๆ อาทิ มือถือ พวงกุญแจ หรือวัสดุที่ไม่สามารถซักล้างทำความสะอาดได้

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภาพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จริง ๆ แล้ว UV คลื่นอื่น ๆ ก็ใช้ฆ่าเชื้อได้เหมือนกัน แต่ต้องใช้เวลานานกว่า เพราะว่ามีพลังงานที่ต่างกันมาก อาทิ เวลาออกไปตากแดด โดนรังสี UV-A และ UV-B กว่าผิวจะไหม้ใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ถ้าเป็น UV-C จะใช้เวลาเพียงไม่ถึงนาทีเท่านั้น หากอยู่ในระยะใกล้ และ มีความเข้มสูง เพราะฉะนั้น หากจะใช้เครื่องที่ใช้ฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV-C ต้องมั่นใจว่าเป็นเครื่องที่ได้มาตรฐาน และมีความถี่ที่เหมาะสม ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ควรป้องกันตัวเองด้วย ซึ่งหากเป็นเครื่องที่ปล่อยแสง UV-C ในกล่อง หรือภาชนะปิดจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าถ้าเป็นแสงไฟที่ซื้อมาเป็นหลอดที่ปล่อย UV-C ออกมา เวลาใช้ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง หากจะใช้ฆ่าเชื้อในห้อง เวลาเปิดหลอดไฟไม่ควรจะเข้าไปอยู่ในห้อง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผิว และดวงตา ซึ่งหากแสงส่องโดนผิวหนังโดยตรง อาจทำให้เซลล์ผิวหนังถูกทำลาย และมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนัง และหากแสงสาดเข้ามาในดวงตา อาจทำให้ตาอาจเป็นต้อ หรือเกิดความผิดปกติได้ จากการโดนรังสีทำลายกระจกกับเลนส์ตา ดังนั้น จึงควรที่จะต้องจัดเตรียมทุกอย่างไว้ก่อน แล้วให้ตัวเราอยู่นอกห้อง ก่อนเปิดสวิตช์ ให้แสงออกมา แล้วทิ้งไว้ในระยะเวลาที่พอสมควร จึงปิดหลอดไฟ

   ทั้งนี้ บุคลากรทางรังสีเทคนิค เป็นบุคลากรสำคัญในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย Covid-19 โดยจะต้องมี การสัมผัสกับตัวผู้ป่วย จากการเอกซเรย์ปอด และทำ CT Scan ซึ่งต่อไปทางภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเปิดโอกาสให้อาจารย์ ตลอดจนนักศึกษาในภาควิชาฯ ได้มีการเรียนรู้ และทำงานวิจัยในเรื่องของรังสี UV กันให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งปฏิบัติงานโดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยปลอดภัย และตัวเราเองปลอดภัยด้วย