04-06-2563

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วางแผนรับมือการสอบพิซาปี 2021 เน้นครูพัฒนาเด็กให้ครอบคลุมทุกวิชาด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์มากขึ้น

   ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงความคืบหน้าการวางแผนโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ พิซา ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ได้ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. กำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล พื่อนำไปสู่การสอบพิซ่าในปี 2021 โดยเฉพาะการวิเคราะห์ผู้เข้าสอบ เนื่องจากการสอบขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี เป็นการสุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 15 ปี หรือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จาก 65 ประเทศ โดยใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน ซึ่งจะไปดูข้อเท็จจริงว่าการสอบของประเทศไทยแท้จริงแล้วได้ใช้ผู้เรียนที่อายุ 15 ปีหรือไม่ หรือเป็นการสุ่มเด็กอายุ 13-14 ปีไปเข้าสอบ ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ภาพรวมการสอบพิซ่าทั้งระบบ รวมถึงการนำตัวอย่างข้อสอบพิซาในแต่ละปีมาใช้เป็นตัวอย่างให้เด็กได้ทดสอบ ซึ่ง สพฐ. เชื่อมั่นว่าหากได้รับการประมวลผลการสอบพิซาจากหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมความพร้อมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะทำให้คะแนนการสอบพิซาของไทยดีขึ้น

   เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องยอมรับว่าการสอบพิซาแต่ละปีจะมีการใช้ข้อสอบไม่เหมือนกัน เช่นในปีที่ผ่านมาข้อสอบพิซาจะเน้นเรื่องการอ่าน ซึ่งในปี 2021 เรายังไม่รู้ว่าระบบของพิซาจะวัดความรู้เด็กแต่ละประเทศด้านไหนบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้ครอบคลุมทุกด้านไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การอ่าน และการคิดวิเคราะห์ ดังนั้นสพฐ.จะต้องพัฒนาเด็กให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวิชา อีกทั้งหลักการของการของข้อสอบพิซาจะมีคำถามที่ยาว ในขณะที่เด็กไทยส่วนใหญ่จะเน้นคำถามสั้น ๆ และจำมาตอบ ดังนั้น ครูผู้สอนจะต้องฝึกเด็กให้คิดวิเคราะห์มากขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้สมองของเด็ก ไม่ใช่แค่คิดแบบท่องจำอย่างเดียว