17-06-2563

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือ มทร. ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมระหว่าง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้แนะนำให้ มทร.จะต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในพื้นที่ ติดอาวุธทางปัญญาให้ชุมชนเน้นการทำงานเชิงรุก เน้นการแก้ปัญหาให้ชุมชนสนองความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของมทร.ธัญบุรีนั้น ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่าหลายปีที่ผ่านมา มทร.ธัญบุรี ได้เปิดสอนรายวิชานวัตกรรมชุมชนซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาลงพื้นที่นำความรู้ที่เรียนประยุกต์ให้ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งได้รับคำชื่นชมจาก รมว.อว.อย่างมาก

   อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อไปว่า นอกจากรายวิชานี้แล้ว มทร.ธัญบุรี ยังมีโครงการ Area Base นำงานวิจัยไปช่วยเหลือชุมชนเน้นไปที่จังหวัดปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับพร้อมตั้งเป้าหมายให้ชุมชนมีรายได้ที่ดีขึ้น รวมถึงยังมีโครงการ 84 ชุมชน โดยทุกคณะเลือก 84 ชุมชนที่ต้องการลงไปยกระดับโดยใช้ความรู้ความสามารถของมหาวิทยาลัย

   ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณัฐ แก้วสกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา ในฐานะผู้ประสานงานรายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน กล่าวว่า รายวิชานี้เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2561 โดยยึดถือ ตามแนวพระราชดำริศาสตร์พระราชา นำหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยเริ่มแรกได้รับ ความร่วมมือจากมูลนิธิรากแก้ว นำอาจารย์ที่มีจิตอาสา ดูงานของมูลนิธิที่มุ่งพัฒนาชาวบ้านบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากนั้น มทร.ธัญบุรีจึงนำแนวคิดนี้มาปรับบริบทให้ตรงกับมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นนวัตกรรม จึงทำให้เกิดรายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชนขึ้นมาโดยของมทร.ธัญบุรีไม่เน้นเฉพาะการลงพื้นที่เพื่อดูงาน แต่จะต้องลงมือปฏิบัติ ดำเนินการในแบบเข้าใจ เข้าถึงพัฒนา จุดเด่นของรายวิชานี้จะมีนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 จากทุกคณะเข้าเรียน ทำให้ทุกคนต่างนำความรู้ที่ได้เรียนมาบูรณาการสร้างโครงงาน นวัตกรรมขึ้นมา ซึ่งจากปีแรกที่เปิดมีนักศึกษาสนใจเรียน 14 คนเท่านั้น แต่ในปีนี้มีนักศึกษาลงทะเบียนเกือบ 300 คน สำหรับการเรียนการสอนนั้น จะแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อศึกษาเก็บข้อมูลความต้องการของชุมชนนั้นๆ นำมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งประดิษฐ์ หลังจากนั้นจะมีการโชว์ผลงาน ให้กับชาวบ้านและผู้นำชุมชนชน ที่นักศึกษาลงพื้นที่ ให้ข้อเสนอแนะและต่อยอดงานนั้น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นนวัตกรรมที่ได้จะเป็นการลดของเสียในกระบวนการผลิตของชาวบ้านและเกษตรกร หรือการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นถิ่น ที่ผ่านมามีโครงงานที่สัมฤทธิ์ผลแล้ว 9 โครงงาน และจาการติดตามเบื้องต้น พบว่า ชุมชนนำไปสานต่อ 2 โครงงาน คือ โครงงานปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยง ซึ่งจากการทดลองนั้นพบว่า ให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ดี และโครงงานน้ำยาไล่แมลงวันทอง ที่ใช้วัตถุดิบจากต้นกะเพราในครัวเรือนโดยไม่ใช้สารเคมี ที่เหลืออยู่ระหว่างการติดตาม

   ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหวังจะให้เกิดการจุดประกายให้ชุมชนนำไปต่อยอดอย่างไรก็ตาม อนาคตต้องการ ให้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นตลาดให้กับชุมชน เพราะหากชุมชนผลิตผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก ภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่ช่วยกระจายตลาดได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อว่าชาวบ้าน ชุมชนลงมือปฏิบัติ มีเป้าหมายชัดเจนจะเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์แต่หากไม่มีแหล่งขาย จะทำให้ทุกอย่างชะงักเป็นโจทย์สำคัญของมหาวิทยาลัย