18-06-2563

รองนายกรัฐมนตรี ตรวจงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จี้มหาวิทยาลัยให้เสนอโครงการดี ๆ

   ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผู้บริหาร และอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมและรายงานผลการดำเนินโครงการ อาทิ โครงการ อว.สร้างงาน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ระยะแรก จ้างงานกว่า 10,000 คน ใน 42 หน่วยงานของ อว. เป็นเวลา 4 เดือน เดือนละ9,000 บาท  ระยะที่ 2 ขยายเป็น 32,000 คนใน 72 หน่วยงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการของบประมาณ,โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ,โครงการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะชั้นสูงตามความต้องการของประเทศ, การใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นฐานในการเพิ่มมูลค่าให้กับความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งและทุนพื้นฐานสำคัญของประเทศ เป็นต้น

   โดย ดร.สมคิด กล่าวว่า อยากให้ อว.และมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสทำโครงการที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด ในการใช้เงินจาก พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อนำงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น พร้อมย้ำว่า หลังวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจในปีนี้ก็ยังไม่น่าจะดีขึ้น แต่มหาวิทยาลัยต้องเร่งพัฒนา ต้องสร้างคุณค่าให้เกิดนวัตกรรม สร้างรายได้ โดยต้องยกระดับพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางที่นักศึกษาจากประเทศต่าง ๆ สามารถเลือกเข้ามาเรียน เพื่อให้เกิดการไหลเวียนขององค์ความรู้ พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยต้องอย่าคิดรอแต่เพียงงบประมาณอย่างเดียว แต่ต้องเอาเด็กนักศึกษาเก่ง ๆ อาจารย์เก่ง ๆ มาสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างรายได้

   ดร.สมคิด กล่าวต่อไปว่า ในโครงการ อว.สร้างงาน นั้นตนให้ข้อสังเกตุว่า ภายในปีนี้จะมีผู้ว่างงานมากขึ้น รวมถึงนักศึกษาอีกกลุ่มใหญ่ที่จบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ ซึ่งเรื่องการจ้างคนลงไปทำงานในโครงการนั้น ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ส่วนการจ้างงานที่เป็นการจ้างคนในชนบททุกจังหวัด จะต้องเป็นลักษณะจ้างมาเพื่อรู้เรียนไปด้วย เป็นการพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน เช่น ฝึกคนในชนบทให้ทำการเกษตรสมัยใหม่ โดยให้ค่าตอบแทนส่วนหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้รายได้จะต้องไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ไม่ใช่ตกอยู่ที่อาจารย์หรือที่

   มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ในการจ้างงานประชาชน 5 หมื่นรายกับบัณฑิตและนักศึกษาอีก 3 แสนคนนั้นต้องจัดให้มีทักษะพื้นฐาน 4 ทักษะ ได้แก่ ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทักษะด้านการเงิน และทักษะการทำงานร่วมกับเครือข่ายทางสังคม อีกทั้งมหาวิทยาลัยควรให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 -4 นำความรู้ในสาขาที่เรียนไปพัฒนาท้องถิ่น โดยให้เด็กลงไปทำงานจริงก่อนจบการศึกษา ไปพัฒนาทำงานวิจัยด้วยตัวเอง เพื่อให้มีความรู้ ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น มีคณะด้านเทคโนโลยี หรือวิศวกรรมศาสตร์ ก็ต้องลงไปสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชนบทโดยให้เอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้