18-06-2563

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

   ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเปิดหลักสูตร “แพทยศาสตรบัณฑิต - การจัดการมหาบัณฑิต” หรือ “แพทย์นักบริหาร” โดยกล่าวว่า ในปีการศึกษา 2564 ได้เตรียมเปิดหลักสูตร “แพทย์นักบริหาร” หรือ “แพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต” ที่มุ่งผลิต “แพทย์นักบริหาร” ที่มีภาวะผู้นำ มีศักยภาพด้านกระบวนการคิดและบริหารจัดการ สู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพที่ดีของคนไทย ผ่านการพัฒนางานวิจัยหรือองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนตั้งรับวิกฤตสุขภาพทั่วโลก ดังเช่น วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา

   สำหรับหลักสูตร “แพทย์นักบริหาร” (M.D./ M.M.) ถือเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในไทย ในการผสมผสานหลักสูตรแพทยศาสตร์ ร่วมกับหลักสูตรนานาชาติด้านบริหารจัดการ โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหนึ่งใน 4 ของสถาบันการศึกษาไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AACSB จากสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจระดับโลก โดยที่ผ่านมา สามารถผลิตนักบริหารศักยภาพสูง ร่วมขับเคลื่อนหน่วยงานหรือองค์กรสำคัญระดับประเทศและนานาชาติ แม้ในปัจจุบันศักยภาพการรักษาพยาบาลและการให้บริการด้านสาธารณสุขของไทย จะได้รับการจัดคุณภาพในลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ด้านการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในประเทศยังสวนทาง ดังนั้น การรักษาคุณภาพของระบบสาธารณสุขไทยให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการบริหาร การจัดสรรทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืองบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

   ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อาภาศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเรียนในหลักสูตร “แพทย์นักบริหาร” ผู้เรียนจะได้ศึกษาในรูปแบบปฏิบัติจริง โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้และปฏิบัติจริง กรณีศึกษาจริง เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ประจำที่มีความเชี่ยวชาญจากงานวิจัยและการให้คำปรึกษาในภาคอุตสาหกรรม และอาจารย์พิเศษมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ตรง การศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน และสถานประกอบการด้าน Health & Wellness โดยบัณฑิตที่จบการศึกษาจากโครงการ นอกจากจะมีความรู้ความสามารถในฐานะแพทย์แล้ว ยังจะมีทักษะและความพร้อมในการบริหารจัดการโรงพยาบาล และองค์กรด้านสาธารณสุขทั้งตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ อันสอดคล้องกับจุดแข็งของประเทศไทยในฐานะ “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” ที่มีศักยภาพระดับโลก

   สำหรับหลักสูตรดังกล่าว ใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 7 ปี คือ แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 6 ปี และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) อีก 1 ปี โดยในชั้นปีที่ 1-3 จะเป็นการจัดการเรียนการสอนในชั้นพรีคลินิก ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่วนในชั้นปีที่ 4 จะจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพแบบองค์รวม Healthcare and Wellness Management ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และปีที่ 5-7 จะเป็นการเรียนในชั้นคลินิก พร้อมทำวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเมื่อสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะได้รับปริญญา 2 ใบ จากแพทยศาสตรบัณฑิต และการจัดการมหาบัณฑิต หรือ หลักสูตรนานาชาติ

   ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวจะเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรก ในเดือนตุลาคม 2563 สำหรับเข้าศึกษาในเดือนสิงหาคม 2564 โดยเปิดรับนักศึกษาปีละ 20 คน ผ่านการรับตรงระบบ “ทีแคส” รอบ Portfolio (พอร์ตโฟลิโอ) ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 22062000 หรือดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.cmmu.mahidol.ac.th และ www.facebook.com/CMMUMAHIDOL