30-06-2563

กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมรับมือเปิดภาคเรียน ภายใต้โควิด-19 ตามแนวทาง “โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข”

   นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ ในการเปิดภาคเรียนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ว่า วันพรุ่งนี้จะเป็นวันที่สถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ มีกำหนดเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 เพื่อให้การเรียนการสอนเต็มรูปแบบ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงความพร้อม และ คู่มือ การรับมือภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตามแนวทาง “โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข หรือ Back to Healthy School” โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข ออกคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 รวมทั้ง มิติในการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สถานศึกษานำไปปรับใช้ เป็นแนวทางการบริหารจัดการ ในการเปิดภาคเรียน โดยจะต้องมีการคัดกรองสุขภาพ ตั้งแต่จุดรับ-ส่งนักเรียน เพื่อดูว่านักเรียนมีอาการป่วยหรือไม่ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีสถานที่ล้างมือ หรือ การใช้เจลแอลกอฮอล ลดการแออัด เว้นระยะห่างในห้องเรียน ด้วยการจัดโต๊ะที่นั่งเรียน เว้นระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร / ปรับปรุงพื้นที่โรงอาหาร เว้นระยะห่างบุคคล ไม่ต่ำกว่า 2 เมตร และ ต้องมีการทำความสะอาดบ่อยขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องสุขา และ จุดสัมผัสต่าง ๆ

   สำหรับ เด็กเล็ก คุณครู และ ผู้ช่วยครูสอนเด็กปฐมวัย ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับการนอนกลางวัน ให้เว้นระยะห่างการนอน 1.5 เมตร ให้ศีรษะห่างกัน โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในช่วงการนอน ส่วนช่วงรับประทานอาหาร ให้แบ่งออกเป็นกลุ่ม สลับกันรับประทานกลุ่มละ 30 นาที ส่วนประเด็น เรื่องการสอบของทุกระดับ หากมีการสอบ กระทรวงศึกษาธิการจะปรับตัวชี้วัด ให้เข้ากับเกณฑ์ที่สามารถสอนได้ในปีการศึกษานี้ เพื่อให้นักเรียนได้รับการวัด และ ประเมินผลการเรียนได้อย่างยุติธรรม กรณีหลังจากเปิดเทอมแล้ว หากพบมีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ต้องคัดแยกผู้มีอาการ และ แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยทันที โดยในระหว่างรอผลตรวจโควิด-19 ยังมีการเรียนการสอนปกติได้ แต่หากตรวจพบเชื้อ นักเรียนและผู้ใกล้ชิด ต้องถูกกักตัว 14 วัน และ โรงเรียนต้องปิด 3 วัน เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

   สำหรับการเปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ตามข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ มีสถานศึกษาทุกสังกัด ที่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ มีจำนวน 31,000 โรงเรียน ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถ จัดการเรียนการสอนแบบปกติ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,500 โรงเรียน โดยให้ใช้การสลับกันมาเรียน / สัปดาห์เว้นสัปดาห์ / เช้า-บ่าย / วันคี่-วันคู่ / หรือการเรียนผสมกับการเรียนออนไลน์แทน