10-07-2563

คาดการณ์ ความเปลี่ยนแปลง หลังโควิดคลี่คลาย ชี้การศึกษาไทยจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

   ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกมิติ โดยมิติหนึ่งที่สำคัญมากคือ ด้านการศึกษา ซึ่งเป็นภาวะความปกติใหม่ของประเทศไทย ที่ต้องเผชิญ หลังจากสถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอน ก็จะมีมาตรการการป้องกัน ผสมผสานการเรียนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเรียนการสอนขึ้นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มอาชีพมากขึ้น ในขณะที่นักเรียนและนักศึกษาเริ่มหันไปสนใจการเรียนสาขาใหม่ ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับหลักสูตร นักศึกษาทั้งที่เรียนอยู่และจบใหม่จะมีบทบาทเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนมากขึ้น เกิดเป็น local startup (โลคัล สตาร์ทอัพ) และ social enterprise (โซเชี่ยล เอ็นเทอร์ไพรซ์) จำนวนมาก

   สำหรับมาตรการฟื้นฟู เป้าหมายสำคัญ คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการศึกษาและการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษาให้ก้าวเข้าสู่ความเป็น “new normal schools” สามารถจัดการศึกษาและการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ในภาวะวิกฤต

   สำหรับประเด็นด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. ที่สำคัญเพื่อรองรับ การฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านการศึกษา คือ การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย มาตรการที่จำเป็นสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย คือ สถานศึกษา มีการพัฒนานวัตกรรมและระบบบริหารจัดการอาคารสถานที่ การจัดการเรียนกลุ่มเล็ก ในสถานศึกษา เพื่อทำให้ผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถรักษาระยะห่างทางสังคม และลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในสถานศึกษา, มีการพัฒนาและใช้โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่จำเป็นต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในสถานศึกษา, การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับการเรียนผ่าน สื่อผสมผสานเพื่อการเรียนออนไลน์และออฟไลน์ มีการยกระดับทักษะและความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล ครู บุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน และพัฒนา

   สื่อการสอน เพื่อทดแทนหรือเสริมการเรียนในระบบปกติได้ รวมถึงเพื่อให้บุคลากรสนับสนุนมีทักษะด้านดิจิทัลเพียงพอต่อการสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาของสถานศึกษา, การพัฒนาทักษะการสอนและเนื้อหาการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนผ่านระบบดิจิทัล และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน รวมถึงให้ความรู้ด้าน health education กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ในส่วนของนักเรียนและผู้ปกครอง หากมีความจำเป็นต้องเรียนจากที่บ้าน ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อจะได้เข้าใจถึงการใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนทางไกล ซึ่งทางสถานศึกษาควรพิจารณาสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนทางไกลให้แก่ผู้เรียน โดยการอุดหนุนค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ หรือจัดหาอุปกรณ์ให้นักเรียนสามารถยืมเรียนได้

   นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เอสเอ็มอี พัฒนานวัตกรรมสำหรับใช้ในสถานศึกษาที่กลับมาเปิดการเรียนการสอน เช่น นวัตกรรมสำหรับตรวจคัดกรอง การสืบเสาะ และการติดตามผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ในสถานศึกษา นวัตกรรมสื่อการสอนที่ใช้ทดแทนหรือเสริมการเรียนปฏิบัติการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ระยะไกล เช่น การติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในโรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ชุมชน การพัฒนาแพล๊ตฟอร์มกลางที่บรรจุบทเรียนออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายและทันสมัย เป็นต้น