17-07-2563

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมนำทัพก้าวสู่ปีที่ 2

   ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ได้วางนโยบายโดยเน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ภายใต้นโยบายหลัก 4 เรื่อง คือ โค้ดดิ้ง การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย และอาชีวะเกษตร ที่ล่าสุดได้เปิดตัวโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่จะใช้กลไกของอาชีวะเกษตรในการขับเคลื่อนโครงการ โดยทั้ง 4 เรื่องได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

   สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 2 จะยึดสโลแกน "ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน" เป็น 3 กลไกหลักเพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป “ทันสมัย” โดยเฉพาะนโยบายเรื่อง โค้ดดิ้ง ที่ได้ออกแบบเนื้อหาหลักสูตรร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. สนับสนุนเด็กไทยต้องได้เรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญจำเป็นและควรเน้นเป็นอย่างยิ่ง คือ การคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ โค้ดดิ้ง เป็นทักษะการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยสร้างความมีตรรกะและแก้ปัญหาได้อย่างเป็นขั้นตอนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่ได้มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด

   สำหรับแนวทาง "เท่าเทียม" คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า การศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลายและมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนแนวทาง "ยั่งยืน" จะยกระดับ

   วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงให้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดทางเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร โดยนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน เพื่อยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงให้เป็น Digital Agri College รวมไปถึงการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้หลักสูตร "ชลกร" เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำกินน้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยทั้งหมดนี้จะใช้กลไกของสภาการศึกษาเป็นฟันเฟืองเพื่อเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วนในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้