22-07-2563

โปรแกรม ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สนับสนุนผู้ประกอบการ

   ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม SMEs มักจะเติบโตได้ช้า ด้วยความไม่พร้อม ในหลายด้าน ดังนั้น การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้อย่างตรงจุด จะช่วยเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โจทย์ส่วนใหญ่ที่ SMEs ไทยต้องการการสนับสนุน ได้แก่ การพัฒนากระบวนการผลิต การลดต้นทุน การพัฒนามาตรฐาน การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปช่วยแก้ปัญหา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาด เป็นต้น

   สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือ ไอแทป (Innovation and Technology Assistance Program: ITAP) มามากกว่า 20 ปีแล้ว เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ไทยอย่างรอบด้าน โดย ITAP มีภารกิจหลักคือ การรับโจทย์ความต้องการเบื้องต้นจากผู้ประกอบการ และสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านที่ตรงกับโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกถึงในโรงงาน ทำให้ SMEs ไทยซึ่งโดยมากไม่มีหน่วยวิจัยพัฒนา อยู่ในบริษัท สามารถนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และกระบวนการได้ ซึ่งทุกโครงการที่ทำงานกับอุตสาหกรรมจะมีที่ปรึกษาเทคโนโลยี (Industrial Technology Advisor) หรือ ITA ช่วยดูแลบริหารจัดการโครงการเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ให้กับ SMEs แต่ละรายได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง โปรแกรม ITAP ยังเปิดบริการให้แก่ผู้ประกอบการทุกวันทำการ เปิดตลอดปี ปัจจุบัน ITAP มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศถึง 20 แห่ง โดย ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นหนึ่งในครอบครัว ITAP ที่ช่วยกันสนับสนุน SMEs ไทยให้เติบโตมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโปรแกรม

   ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรัตน์ ภูวานคำ ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก มทส. กล่าวว่าโปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส. ได้ให้ความช่วยเหลือห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ในการประสานงานระหว่าง สวทช. ผู้ประกอบการ และ ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกลไกการให้ความช่วยเหลือจาก สวทช. ผ่านโปรแกรม ITAP นอกจากนี้ ยังมีบทบาทที่สำคัญในการลดความยุ่งยากและความซับซ้อนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออันดีระว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ สามารถพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนแบบใหม่ อันเป็นผลจากการผสมผสานกันระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเซรามิกที่ทันสมัย จนได้เทคโนโลยีที่เหมาะกับการผลิตของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสามารถแก้ปัญหาการผลิตได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด รวมถึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับฝีมือและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

   ขณะที่ นางสาว ทศพร คลังบุญครอง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ กล่าวว่า ผลจากการพัฒนานวัตกรรมภายใต้โครงการ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของภายใน นั่นคือ พนักงานมีความรู้และความเข้าใจในการทำงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้พนักงานมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับองค์กรในอนาคต และส่วนของภายนอกคือการที่ลูกค้าได้มาเห็นการพัฒนานวัตกรรม ของโคราช แสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ ส่งผลให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในองค์กร