03-08-2563

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เดินหน้าวิจัยเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน หลังตัวเลขเก่าใช้มานานกว่า 10 ปี

   ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หรือ สกศ. ได้ทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเงินอุดหนุนการเรียนการสอน หรือ เงินอุดหนุนรายหัว) ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่นักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยกระบวนการตอนนี้ สกศ.ได้ตรวจสอบอัตราเงินเฟ้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว พบว่าการจัดเก็บรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 40-50 แต่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 16 แสดงให้เห็นว่าประเทศมีความสามารถในการสนับสนุนงบประมาณในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ สกศ.ยังได้ส่งทีมงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลในโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างประมาณเกือบ 200 โรง ครอบคลุมโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงสำรวจโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายรายหัว 5 ข้อเดิม คือ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ว่าแต่ละโรงเรียนได้รับสนับสนุนเท่าไร อย่างไร ซึ่งทั้ง 5 รายการนี้ ถือว่าใช้มาเป็นระยะเวลา 10 แล้ว หลังจากที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อปี2552 ดังนั้น หากจะปรับปรุงตามสภาพการจ่ายจริงควรที่จะปรับให้เป็นไปในทิศทางไหนอย่างไร นอกจากนี้ สกศ.ยังสำรวจค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบ เช่น ค่าชุดนักเรียนที่รัฐสนับสนุนให้ปีละ 2 ชุด แต่นักเรียนจะต้องมีชุดพละและชุดลูกเสือ เนตรนารี เพิ่มขึ้นมา หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นต้น ซึ่ง สกศ.จะจัดทำเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพื่อที่จะให้เห็นภาพชัดว่าค่าใช้จ่ายในเรื่องใดที่รัฐควรจะสนับสนุนและสนับสนุนจำนวนเท่าไรในแต่ละระดับชั้น โดย สกศ. จะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้