07-08-2563

กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการ " สายธารพระเมตตา จากภูมิปัญญา สู่สากล”

   นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในการเปิดงานนิทรรศการ " สายธารพระเมตตา จากภูมิปัญญา สู่สากล” โดยกล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2563 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดนิทรรศการและการแสดงผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไหมไทย ที่มีความงดงามหลากหลายรูปแบบ เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อผ้าไทย ทั้งยังทรงส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่พสกนิกร และอาชีพทางด้านหัตถกรรมการถักทอผืนผ้าไหมที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์และมรดกของประเทศไทยสืบต่อไป

   นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวต่อไปว่า นิทรรศการนี้จะไปจนถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2563 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ภายใต้แนวคิด“ล้ำค่าผ้าไหมไทยสู่สากล” ผ่านเทคนิคการแสดงที่ล้ำสมัย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1: การผลิตผ้าไหมไทยนำเสนอเรื่องราวการผลิตผ้าไหมไทย แสดงถึงชีพจักรไหม แสดงการย้อมสี การทอผ้าไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมมัดหมี่ ลวดลายมัดหมี่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นลวดลายที่มาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ อาทิ ลายดอกแก้ว /ลายต้นสน/ ลายนาค / ลายขันหมากเบ็ง ซึ่งเป็นศิลปะการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะยากต่อการลอกเลียนให้เหมือนเดิมได้ในปัจจุบัน

   ส่วนที่ 2: การแสดงหุ่นโชว์ชุดราตรีผ้าไหมไทยที่เคยแสดงในงาน “Thai Night” งานเลี้ยงต้อนรับสาวงามผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยชุดทั้งหมดตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “มงคล” ไล่เรียงตามสีมงคลประจำวันของไทย จากวันจันทร์ไปจนถึงวันอาทิตย์ได้แก่ สีเหลือง สีชมพู สีเขียว สีส้ม สีฟ้า สีม่วง และสีแดง

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่สำคัญคือ การนำชุดฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อันวิจิตรงดงามล้ำค่ามาจัดแสดง โดยแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการออกแบบ ทรงเป็นศิลปินศิลปาธร ซึ่งมีเค้าโครงมาจากชุดในคอลเลคชัน SIRIVANNAVARI Couture (สิริวัณณวรี กูทูร์) ที่ทรงออกแบบใช้เทคนิคการตัดเย็บชั้นสูง ทรงได้แรงบันดาลพระทัยมาจาก ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ใช้เทคนิคการร้อยและปักลูกปัดแบบแฟชั่นชั้นสูง มีการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าไหมแพรวามาผสมกัน ทุกพื้นที่บนผืนผ้าของชุดยังได้ถ่ายทอดความเป็น “นกยูง” เป็นสัตว์ที่สะท้อน ถึงความสง่างามและความอ่อนโยนในแบบผู้หญิงที่มีความสวยงาม และโดดเด่นในรูปแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นชายกระโปรงลากยาวได้ออกแบบเสมือนปีกนกยูงที่กำลังรอรำแพน มีดอกดวงหรือแววมยุราที่มีรายละเอียดการตัดเย็บอย่างละเอียด ตลอดจนใช้ผ้าสีฟ้า สีน้ำเงินอยู่ในพื้นที่วงกลม ล้อมรอบด้วยเส้นไหมให้ดูราวขนปีกนกยูง ซึ่งนับเป็นผลงานที่ทรงรังสรรค์ทุกรายละเอียดด้วยความประณีตอย่างสูง นอกจากนี้ขอรณรงค์ให้คนไทยร่วมสวมใส่ผ้าไทยและแต่งกายโทนสีฟ้าตลอดเดือนสิงหาคมนี้