13-08-2563

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

   ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในโอกาสเป็นประธานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เรื่อง “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษา ผู้เรียนทุกคนต้องเข้าถึงนวัตกรรมภายใน 2 ปี" ว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น คือ การปฏิรูปการศึกษา อย่างไรก็ตามการปฏิรูปในประเทศไทยได้เรียกร้องกันมาต่อเนื่องหลายปี โดยเฉพาะข้อเรียกร้องจากประชาชนมาทุกสมัยอันดับแรก คือ การปฏิรูปการศึกษา อันดับสอง คือ การปฏิรูปตำรวจ ซึ่งในส่วนของการปฏิรูปการศึกษารัฐธรรมนูญให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จนรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ขึ้นมา โดยขณะนี้การปฏิรูปการศึกษาอยู่ในขั้นตอนของกฎหมายตามลำดับ สิ่งหนึ่งที่ กอปศ. ได้ ชี้เป้าหมายไว้คือการปฏิรูปการเรียนการสอนและได้ประกาศใช้บังคับไปแล้วในเวลานี้ คือ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเรื่องนี้ สพฐ.เป็นผู้รับผิดชอบ และวันนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ทำความตกลงร่วมมือกับ สพฐ.ในการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาไทย ผู้เรียนทุกคนต้องเข้าถึงนวัตกรรมภายใน 2 ปี โดยมีเป้าหมาย คือ การเริ่มปักหมุดโรงเรียนต้นแบบการพัฒนาผู้เรียนให้เข้าถึงนวัตกรรมได้ทุกคน ในทุกจังหวัด โดยในระยะแรกจังหวัดละไม่เกิน 200 คน จำนวนไม่น้อยกว่า 3 โรงเรียน ก่อนขยายผลให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน ทุกขนาดทั่วประเทศ ซึ่งจะยกระดับศักยภาพผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และประเทศได้ ทั้งนี้ การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยการปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เน้นการป้อนข้อมูล โดยการท่องจำเนื้อหามาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ด้วยการให้ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบตัดสินใจ บนพื้นฐานคุณธรรมและค่านิยม เพื่อสังคมประเทศชาติ และนำความรู้ไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างมีแบบแผน

   ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการสร้างคน ผลิตคน ที่มีคุณภาพออกรับใช้สังคมไทยและสังคมโลก ในการปฏิรูปการศึกษากระบวนการเรียนรู้กระบวนการสอนก็เป็นปัจจัยที่จะช่วยสร้างผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ และทุกวันนี้ นักเรียน นักศึกษา สามารถหาความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต YouTube ระบบออนไลน์ที่มีมากมาย แต่สิ่งสำคัญวันนี้ คือ ไม่ได้เน้นการสอนแบบ Passive Learning แต่เราจะเปลี่ยนมาเป็น Active Learning ทำอย่างไรให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ผ่านระบบข้อมูลข่าวสารที่มีความพร้อม เรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต เพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองตัวนั้นจะเป็นตัวพื้นฐานที่สำคัญ

   ขณะที่ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่าวันนี้เราจะต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน กระบวนการการเรียนรู้ รวมถึงตัวเด็ก ซึ่งแต่ละเรื่องจะต้องเริ่มต้นที่ตัวเด็ก สอนให้เด็กได้กระบวนการ ที่เรียกว่า Active Learning ซึ่งการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต่อยอดการร่วมกันขับเคลื่อนงานการทำงานครั้งนี้ สพฐ.จะได้นำไปขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป