03-09-2563

กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการ “เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก” ตั้งเป้าในปี 2564 สร้างต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกครอบคลุม 77 จังหวัด

   ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้จากการเล่น ช่วยส่งเสริมประสบการณ์ในการใช้ชีวิตให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งการเล่นอย่างอิสระ สามารถส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ของเด็กได้อย่างรอบด้าน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขับเคลื่อน “เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก Model” ลงสู่ชุมชนโดยคัดเลือก 4 ภูมิภาค ตามพรบ.การศึกษา 4 จังหวัด อาทิ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสตูล และจังหวัดระยอง พร้อมทั้งได้ทำการศึกษาวิจัยควบคู่กับการลงพื้นที่เพื่อพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 4 ภาค ให้เป็นต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับกระบวนการเล่นกับเด็กปฐมวัยของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยง และผู้ดูแลเด็ก เพื่อให้ต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกเกิดความยั่งยืนในชุมชน โดยตั้งเป้าในปี 2564 สร้างต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกครอบคลุม 77 จังหวัด รวมทั้งได้จัดทำคู่มือผู้อำนวยการเล่น ใช้ในการ จัดกิจกรรม “การเล่นเปลี่ยนโลก” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่บ้าน และชุมชน มีส่วนร่วมให้การเล่นมีความต่อเนื่องและยั่งยืน

   ด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต เครือข่ายสมาคมการเล่นนานาชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ดำเนินการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กปฐมวัยไทยให้มีทักษะที่เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยมี IQ ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม ควบคู่กับ EQ และ EF ผ่านการเล่น จนเกิดแนวคิดการขับเคลื่อน “เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก Model” ซึ่งเป็นการเล่นรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นด้วยแนวคิด 3F อาทิ F แรก Family คือการเล่นกับครอบครัว เพื่อน พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ที่มีทักษะและสร้างแรงจูงใจในการเล่น // F ที่สอง Free คือการเปิดโอกาสให้เด็กเล่นอิสระ ตามความต้องการอยากจะเล่น โดยมีมุมเล่น ลานเล่น สนามเด็กเล่น ที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน ให้เด็กเล่นที่ไหนก็ได้ขอให้ปลอดภัย และ F สุดท้าย Fun คือการเล่นให้สุข สนุก โดยมีกิจกรรมสื่อของเล่นหลากหลาย หาง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นไปตามวัย เน้นธรรมชาติ

ขณะที่ นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครนำนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัย ปี 2564 ร่วมกันทุกจังหวัด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 1,439 แห่ง ศึกษาทำความเข้าใจคู่มือผู้อำนวยการเล่น หรือ Play Worker เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก เพื่อปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยที่เข้ารับบริการให้เป็นเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21

และทางด้าน นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก เป็นการปฏิบัติของผู้อำนวยการเล่นในระดับโรงเรียนที่เน้นจัดประสบการณ์ผ่านการเล่นเพื่อการเรียนรู้อย่างมีความสุข ภายใต้ การจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในห้องเรียนและภายนอกห้องเรียนที่เอื้อต่อการทำงานของสมอง โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติในการเลี้ยงดูเด็กได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตได้เต็มที่ และเต็มศักยภาพทุกช่วงวัย พร้อมทั้งทำให้เด็กไทยได้เรียนรู้อย่างมีความสุขนำไปสู่การพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในขณะที่ นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กปฐมวัย จึงสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กและภาคีเครือข่ายการเล่น จนเกิดองค์ความรู้เรื่องการเล่นอย่างอิสระ หลักสูตรฝึกอบรม Play Worker หรือผู้ดูแลการเล่น เครือข่ายทีมวิทยากร พื้นที่ต้นแบบ และภาคีในระดับนานาชาติ ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่ายพร้อมที่จะหนุนเสริมการขับเคลื่อนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกในครั้งนี้

และนอกจากนี้ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้ง 4 ด้าน ประกอบไปด้วย ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยอาศัยความร่วมมือของคนในท้องถิ่นในการร่วมกันสร้างสนามเด็กเล่น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่จุดเริ่มต้นของทุนมนุษย์ ซึ่งแนวคิดให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้อย่างมีความสุข ผ่านการเล่นในฐานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ

และวัสดุที่หาได้ตามท้องถิ่น จำนวน 5 ฐาน อาทิ ฐานสระว่ายน้ำอินจัน /ฐานสระทารก /ฐานค่ายกล Spider man /ฐานเรือสลัดลิง และฐานหัดว่ายน้ำ สร้างการเรียนรู้ทางสังคมในการเล่นร่วมกันของเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแล้วจำนวน 3,224 แห่ง.