08-09-2563

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เปิดโมเดลนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

   นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า นโยบายการส่งเสริมนวัตกรรมของ NIA นอกจากจะมุ่งสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศแล้ว สิ่งสำคัญที่ NIA มุ่งเน้นอีกหนึ่งมิติก็คือ การพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า NIA ได้ก้าวสู่การเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมของประเทศไทยที่สำคัญองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดยากจนของประเทศ การสร้างรายได้และอาชีพใหม่ให้กับชุมชน ผู้ด้อยโอกาส การบรรเทาผลกระทบ ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤต ตลอดจนการผลักดันโอกาสผ่านนวัตกรรมให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในส่วนหลังนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้ได้รับความเท่าเทียม ทั้งในการสร้างรายได้และการมีคุณค่าในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคม สำหรับการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมเพื่อสังคมของ NIA มีโครงการที่สำคัญ อาทิโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม และโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน โดยทำงานร่วมกับหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาโครงการนวัตกรรมที่สอดรับกับปัญหาของสังคมทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม คนและเมือง ตลอดจนปัญหาสังคมที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต แล้วกว่า 100 โครงการ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จทั้งในเชิงการนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายและ การขยายผลได้เป็นอย่างดี คือ โครงการ SHE อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง

   นวัตกรรมดังกล่าว เป็นนวัตกรรมสำหรับการสร้างอาชีพบริการเสริมด้านการดัดจัดสรีระ สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับครอบครัวที่เป็นเกษตรกร หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่มั่นคงในชุมชนได้ตลอดทั้งปี รวมถึงเป็น การเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเปราะบางทางสังคม อาทิ อดีตผู้ต้องขังหญิง กลุ่มสตรีมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มประชากรชายขอบ ได้รับองค์ความรู้และเทคนิคด้านการแพทย์เพื่อนำไปประกอบอาชีพในท้องที่ รวมถึงมีงานที่มั่นคง สามารถต่อยอดเป็นงานบริการหรือประยุกต์เป็นอาชีพเสริม พร้อมกระจายองค์ความรู้ที่ได้รับไปสู่กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเดียวกันได้ นอกจากนี้ การสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าวยังเป็นการผลักดันให้สังคมได้เห็นถึงศาสตร์ใหม่ในการรักษาและดูแลร่างกาย ทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้นอีกทั้งยังตอบโจทย์สิ่งที่ขึ้นชื่อและเป็นอัตลักษณ์ของไทยอย่างการ “นวด” ให้เติบโตไปอีกขั้น

   ด้าน นายแพทย์พูลชัย จิตอนันตวิทยา ผู้พัฒนาโครงการ SHE อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง กล่าวว่า นวัตกรรม “SHE” หรือการดัดสรีระผ่อนคลายกล้ามเนื้อภายใน 10 นาที เกิดจากแนวคิด ที่ต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มมนุษย์ออฟฟิศที่ร่างกายสะสมความเครียดเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน รวมไปถึงโรคหัวใจ ซึ่งคนที่มีความเครียดยังมักจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เส้นต่าง ๆ มีความตึงและเจ็บปวด นวัตกรรมนี้จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กับปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการนำโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมมาช่วยในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน รวมถึงกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ในสังคมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

   นายแพทย์พูลชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการ SHE เป็นการผสมผสานองค์ความรู้และเทคนิค กายวิภาคศาสตร์ดัดจัดสรีระเทคนิคของการยืดเหยียดแบบ Sport Medicine ร่วมกับการกดจุด Trigger Point เพื่อสั่งให้สมองเปลี่ยนคำสั่งจากกล้ามเนื้อตึงให้เป็นกล้ามเนื้อหย่อน การสลายจุด Trigger Point ในกล้ามเนื้อ ทำให้นอนหลับได้สนิทขึ้น เพราะเป็นการปรับสมดุลระบบประสาทอัตโนมัติใหม่ เมื่อทำสม่ำเสมอประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะดีขึ้น ใช้เวลาเพียง 10 นาที ในการคลายความเมื่อยล้า นอกจากนี้ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อยังช่วยกระตุ้นสมองให้หลั่งสารเอ็นโดรฟิน ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับพนักงานออฟฟิศ ผู้ใช้แรงงาน รวมไปถึงคนทั่วไปที่ใช้กล้ามเนื้อในการทำงาน ซึ่งในปัจจุบันได้มีองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในภาครัฐ และเอกชนได้นำนวัตกรรมนี้ไปขยายผลสำหรับบุคลากรที่มีปัญหาเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งได้รับผลตอบรับและการยืนยันจากกลุ่มผู้ใช้งานจริงว่ามีประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม และเป้าหมายสำคัญอีกหนึ่งอย่างของโครงการนี้คือ การสร้างอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอดีตผู้ต้องขังหญิง กลุ่มสตรีมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางด้านรายได้ วัฒนธรรม การศึกษา รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการภาครัฐต่าง ๆ ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้เปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จุนเจือครอบครัว สร้างความมั่นคงในชีวิตได้มากกว่าการทำการเกษตรในพื้นที่ อีกทั้งยังฝึกหัดให้สตรีมุสลิมสามารถทำงานด้านบริการได้มากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีลักษณะเฉพาะด้านวัฒนธรรมที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ หากสตรีมุสลิมสามารถทำงานด้านการบริการได้ ก็จะสามารถเจาะตลาดกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมและความต้องการเดียวกันได้มากขึ้น และมีโอกาสที่จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปสร้างอาชีพที่มั่นคงในพื้นที่ได้ต่อไป