14-09-2563

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมเติมเต็ม

   นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหน่วยสนับสนุน "CCT MONITOR" ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เพื่อบูรณาการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ช่วยเหลือนักเรียนยากจน นักเรียนพิการหรือด้อยโอกาส ได้อย่าง มีประสิทธิภาพมากขึ้น นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ กล่าวว่า ความยากจนเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นความโชคดีที่มีหน่วยงาน กสศ. เกิดขึ้นเป็นเพื่อนร่วมดำเนินงานของ สพฐ. เข้ามาช่วยเติมเต็ม และยังทำงานเสมือนการถมบ่อให้พื้นดินเสมอกัน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นภารกิจที่ต้องการผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะ เพราะเป็นงานที่ใหญ่และยาก เนื่องจากเด็กยากจนด้อยโอกาส ไม่ได้อยู่แค่ในชนบท แม้แต่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครก็ยังมีเด็กกลุ่มนี้อยู่ แต่การค้นหาก็ยากลำบาก ดังนั้นหาก สพฐ. ทำเองทุกเรื่องอาจจะไม่ครอบคลุม ดังนั้นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการยืนยันว่า สพฐ.และกสศ. จะร่วมทางพัฒนาเด็กยากจนด้อยโอกาสในทุกมิติ ทั้งการเรียนและ คุณภาพชีวิต สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ครอบคลุมถึงเด็กพิเศษ เด็กพิการ ได้มีโอกาสเท่าเทียมกับเด็ก ที่มีความพร้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมที่จะเติบโต ไปดูแลบ้านเมืองในอนาคต

   นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้นับว่าประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา แต่นักเรียนกลุ่มนี้ก็ยังมีความเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น สุขภาพ การเรียนรู้ พฤติกรรม เป็นต้น อาจเป็นปัจจัยทำให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา ดังนั้น สพฐ. และ กสศ.จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เพื่อบูรณาการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ครอบคลุมนักเรียนพิการหรือด้อยโอกาส ที่สอดคล้องกับการพัฒนาตามศักยภาพเป็นรายบุคคลต่อไป

   ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทาง กล่าวว่า สพฐ. เป็นหน่วยงานต้นสังกัดที่จัดการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาล-มัธยมปลาย ร้อยละ 70-80 อยู่ในการดูแลของ สพฐ. ซึ่งโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร จำเป็นต้อง มีการทำงานร่วมกับ สพฐ. อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถอุดช่องโหว่ทางการศึกษาของครอบครัวที่ยังเข้าไม่ถึง ให้ได้รับการเติมเต็ม แต่การลงนามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้จะทำให้ กสศ. มีโอกาสขยายผลการช่วยเหลือ เข้าไปถึงโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เพิ่มขึ้น ในส่วนของโรงเรียนสังกัดสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ สพฐ. เช่น โรงเรียนเด็กด้อยโอกาสประเภทพิการ หรือกำพร้าพ่อแม่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ศึกษาสงเคราะห์ ที่เป็นโรงเรียนกินนอน โรงเรียนคนพิการ รวมถึงศูนย์การศึกษาพิเศษ ที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มอีกประมาณ 1-2 แสนคน อย่างไรก็ตาม กสศ.ขอขอบคุณความทุ่มเทตั้งใจ ของครูทั่วประเทศมากกว่า 400,000 คน ใน 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คัดกรองนักเรียนเข้ามา รวมถึงเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศที่ช่วยกระตุ้นให้สถานศึกษาต่างๆ ให้ความร่วมมือในการกรอกข้อมูลเข้ามามากขึ้น คุณครู และผู้บริหารสถานศึกษาเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริงและประสบความสำเร็จ ซึ่งประโยชน์นี้จะเกิดแก่นักเรียนยากจนพิเศษทุกคน ที่สำคัญยังเป็นการช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจน ด้อยโอกาสไม่ให้นักเรียนเสียสิทธิ์การรับทุนอีกด้วย ถือเป็นพลังสำคัญของการสร้างความเสมอภาค ทางการศึกษา ทั้งนี้ กสศ. ได้บูรณาการระบบการเยี่ยมบ้านและการคัดกรองนักเรียนยากจนร่วมกัน ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อส่งเสริมการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งลดเวลาการทำงานเอกสารของครูทุกคน เพื่อคืนเวลา ให้ครูทุกคนกลับสู่ห้องเรียนได้มากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานตรงนี้ได้มาจากข้อคิดเห็นของพื้นที่และครูที่ทำงานร่วมกันกับ กสศ. มาตลอด 2 ปี เบื้องต้นได้นำร่องใช้ใน 8 เขตพื้นที่การศึกษา 10 จังหวัด จากนั้น จะมีการนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงและพัฒนา ก่อนที่จะขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาทั่วประเทศต่อไปในอนาคต