14-09-2563

มสธ.ก้าวสู่ปีที่ 43 มุ่งมั่นผู้นำ Online University มุ่งเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อชาติชาวประชา จัดการศึกษาเชิงรุก ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

   ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ มสธ. กล่าวถึงการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ว่า การปฏิรูปครั้งนี้เพื่อต้องการให้มหาวิทยาลัยทำประโยชน์ให้แก่ปวงชนทั้งหลาย ขณะที่ ความต้องการของผู้ใช้บริการมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยน วิถีชีวิตก็เปลี่ยนคือ New Normal ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนตัวเอง และก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนหรือดำเนินการอะไร ทางมหาวิทยาลัยได้มีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม เพื่อดูว่าอะไรที่ดีต้องคงไว้ อะไรต้องเปลี่ยนบ้าง หรืออะไรคือความต้องการใหม่ อะไรคือสิ่งต้องหมดไป และต้องทำเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำ

   ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร กล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปมีความก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง โดยเฉพาะในส่วนการจัดการเรียนการสอนที่ได้มีการปฏิรูปบ้างแล้ว และนักศึกษาก็พึงพอใจมาก อาทิ เรื่องแผนการศึกษาที่มี 3 แผน ประกอบไปด้วย แผน ก1 นักศึกษาจะศึกษาด้วยตนเองจากสื่อต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดให้และสอบวัดผลปลายภาคเหมือนเดิม เนื่องจาก มสธ.เปิดมาแล้วถึง 42 ปี มีคนเคยมาเรียนเป็นล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะต้องการเรียนและจบการศึกษาตามที่ตกลงไว้ เพราะคิดว่าการเรียนแผนนี้สะดวก เรียนแล้วทำได้ ส่วนแผน ก2 คือ การจัดการเรียนการสอนรูปแบบที่มีการสอบกลางภาคเพิ่มขึ้นมา มีการสอบเก็บคะแนนถึง 2 ครั้ง ทำให้การเรียนไม่หนักมากจนเกินไป ซึ่งการปรับแผนการศึกษานี้หวังว่าผลการเรียนของผู้เรียนจะดีขึ้น หวังว่าการตกออกจะลดลง และหวังว่าเมื่อผลการเรียนดีผู้เรียนก็จะมาเรียนมากขึ้น และ สุดท้ายแผน ก3 หรือ blended learning ที่เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน มีกิจกรรมเสริมการเรียน การสอบกลางภาค และการสอบปลายภาค เพื่อเพิ่มอัตราการสำเร็จการศึกษามากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาสื่อการเรียนการสอนของ มสธ. เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ จากเดิมสื่อการเรียนการสอนของ มสธ.จะเน้นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือแม้แต่สื่อการสอนทางไปรษณีย์ เป็นสื่อหลัก เพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ เมื่อมีคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นเรานำคอมพิวเตอร์มาช่วยสอน พัฒนาสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง การผลิตสื่อการสอนที่พัฒนาในรูปแบบ Virtual Laboratory หรือห้องปฏิบัติการเสมือนจริงบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์วิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่สร้างความปั่นป่วนไป ทั่วโลกและส่งผลกระทบแวดวงการศึกษาของประเทศไทยที่ต้องปรับการเรียนการสอนครั้งใหญ่ไปสู่เทรนด์โลกแห่งการเรียนรู้แบบใหม่หรือออนไลน์นั้น มสธ.ถือว่าวิกฤติเป็นโอกาส และกระตุ้นให้ มสธ.เดินหน้าปฎิรูปการเรียนการสอนได้เร็วขึ้น และที่เห็นได้ชัดเรื่องการจัดสอบออนไลน์ที่ผ่านมาของ มสธ. ช่วงเริ่มต้นจะมีปัญหาบ้าง แต่ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะการสอบไม่รั่ว ไม่ลอกกันและไม่ล่มด้วย และ มสธ.จะต้องพัฒนาระบบ การสอบออนไลน์ให้เป็นระบบถาวร เพื่อลดกระดาษสอบที่ใช้เป็นร้อยตัน หวังว่า มสธ.จะเป็นแห่งแรกที่ทำเรื่องออนไลน์เป็นระบบหลักของการเรียนการสอน หรือเป็นผู้นำ Online University และตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 จะประกาศกับนักศึกษาใหม่ว่าถ้าเข้ามาเรียนที่ มสธ.เราจะเตรียมความพร้อมทุกคนให้สอบออนไลน์ด้วย

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า มสธ.ยังคงยึด 4 คำในการบริหารมหาวิทยาลัย คือ ร่วมคิด ร่วมทำ สร้างสรรค์ และจรรโลง เพื่อเดินหน้าตอบโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปมหาวิทยาลัย โดยเน้นการปฏิรูป 5 ด้าน อาทิ ด้านการปฏิรูปแผนการศึกษา เพื่อแก้วิกฤติจากจำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างเร็ว /ลดการตกออกของนักศึกษา และธำรงนักศึกษาไว้ให้มากที่สุด // ด้านการปฏิรูปเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตระหนักดีว่าในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลน่าจะผลิตสื่อ การเรียนการสอนที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบโดยการพัฒนา STOU Media Application เป็นสื่อการเรียนการสอนที่สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก อาทิ การทำคลิปยูทูป ที่นักศึกษาสามารถเปิดดูได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ช่วง การเดินทางทั้งทางรถยนต์ และทางเรือ เพราะทุกวันนี้นักศึกษามีการใช้สมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือกันอย่างทั่วถึงอยู่แล้ว // ด้านการปฏิรูปการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย // ด้านการปฏิรูปการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เป็นมืออาชีพ มีศักยภาพสูงในด้านการสอนและสนับสนุนวิชาการ และสุดท้ายด้านการปฏิรูปด้านกายภาพของมหาวิทยาลัยต้องเร่งดำเนินการตามแผนที่วางไว้

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงานเร่งด่วนของ มสธ.เมื่อเข้าสู่ปีที่ 43 คือการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและทำให้จำนวนนักศึกษาลดลง โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาตรีที่ปัจจุบัน มีจำนวน 78 หลักสูตร มีชุดวิชา1,600 ชุดวิชา โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจที่สภา มสธ.ตั้งขึ้นจะวิเคราะห์ว่า 78 หลักสูตร มีหลักสูตรใดบางที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนน้อยมาก หรือบางหลักสูตรอาจจะล้าสมัยแล้ว

ขณะเดียวกันต้องตรวจสอบกับตลาดแรงงานและสถานประกอบการด้วยว่ามีหลักสูตรไหนที่ไม่ต้องการแล้ว รวมถึงวิเคราะห์ความคุ้มทุนของแต่ละหลักสูตรและชุดวิชา ถ้าหลักสูตรไหนไม่คุ้มทุนก็อาจจะต้องยกเลิก แต่หลักสูตรไหนที่ยังมีคนเรียนก็จะต้องดูแลจนสำเร็จการศึกษา หรือมีการควบรวมหลักสูตรที่คล้ายกัน หรือยังเป็นความต้องการของตลาดแรงงานและสถานประกอบการอยู่ สุดท้ายอาจจะเหลือหลักสูตรเพียง 50 หลักสูตรก็ได้ ส่วนชุดวิชาก็อาจจะต้องมาดูว่ามีชุดวิชาไหนที่สามารถเรียนร่วมกันได้บ้าง อาทิ วิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งชุดวิชาอาจจะเหลือ 1,400 ชุดวิชา

   ทั้งนี้ มสธ.ต้องเร่งวิเคราะห์ข้อมูลว่าหลักสูตรไหนต้องยุบเลิก ต้องปรับปรุง หรือต้องเสนอเพิ่มหลักสูตร ชุดวิชาใหม่ที่ทันสมัย ตลาดแรงงานและสถานประกอบการยังต้องการบ้าง แต่การวิเคราะห์ต้องทำอย่างรอบคอบและให้ได้ข้อมูลอย่างถ่องแท้ จากนั้นจะได้เสนอกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพราะเป็นช่วงครบกำหนดที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องปรับปรุงหลักสูตรพอดี พร้อมทั้ง จะพัฒนาหลักสูตร non-degree เพื่อ reskill และ upskill ด้วย“ส่วนการสอบออนไลน์ มสธ.จะต้องดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ต้องพัฒนาแขนขาของมหาวิทยาลัย คือ ศูนย์วิทยพัฒนา 10 ศูนย์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และอาจขยายเพิ่มเป็น 18 ศูนย์ ตามการจัดกลุ่มจังหวัดในรูปแบบคลัสเตอร์ ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะทำหน้าที่รองรับการจัดกิจกรรมการเรียนร่วม ก3 รวมถึงเป็นสนามสอบออนไลน์ด้วย จากเดิมสอบออนไลน์ที่บ้าน แต่มีข้อกังวลว่าอาจจะมีข้อสอบรั่ว หรือการทุจริตหรือไม่ หากใช้ศูนย์วิทยพัฒนาเป็นสนามสอบได้ ก็จะไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องสอบวัดผลเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์เท่านั้น เพราะศูนย์วิทยพัฒนาเป็นทรัพย์สินของ มสธ.