16-09-2563

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติขยายผลและสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้ ตลอดจนองค์ความรู้ด้านการจัดการเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่ EECi

   ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค สวทช. ได้ดำเนินงานการขยายผลและสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้ ตลอดจนองค์ความรู้ด้านการจัดการเกษตรสมัยใหม่ ร่วมกับ พันธมิตรทั้งภาคเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะทั้งในด้านพืชผัก ผลไม้ และประมง ได้แก่ เทคโนโลยีโรงเรือนเพาะปลูกและการบริหารจัดการครบวงจร เพื่อการจัดการการปลูกพืชผักครบวงจรตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูกในโรงเรือน การผลิตสารชีวภาพเพื่อควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืชผัก ระบบการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยได้มาตรฐาน เทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะพร้อมระบบติดตามและควบคุม เพื่อสาธิตและถ่ายทอดการปลูกพืชมูลค่าสูง เพื่อส่งต่อภาคอุตสาหกรรมแปรรูปในกลุ่ม อาทิ มะเขือเทศ พริก เทคโนโลยีระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ สำหรับ การจัดการแปลงเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ เทคโนโลยีระบบการให้น้ำตามสภาวะความต้องการของพืชในระบบแปลงเปิด เพื่อการประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำในสวนทุเรียน สวนมังคุด ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร 29 ชุมชน รวมถึงเกษตรกรแกนนำ และ Young Smart Farmer รวม 29 ราย และร่วมพัฒนาศูนย์เรียนรู้เพื่อการขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับภาคเอกชนและภาคการศึกษา 3 แห่ง

   พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ จากงานวิจัยขยายผล มีการพัฒนาและติดตั้งต้นแบบแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่ ได้แก่ ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ (Handy Sense) ติดตั้งในฟาร์มเกษตรกรรวม 34 แห่ง ระบบติดตามแจ้งเตือนสภาพทั้งกายภาพ เคมี และชีวภาพพร้อมระบบเฝ้าระวังและติดตามการระบาดของโรค สำหรับ ประมงอัจฉริยะ (Aqua IoT) ขยายผลการใช้งานในฟาร์มของผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ (กุ้ง ปลา) รวม 15 แห่ง และอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบบ่อไร้ดินสำหรับการเลี้ยงกุ้งแนวใหม่ที่มีการควบคุมคุณภาพน้ำ มีระบบหมุนวนน้ำ เติมออกซิเจน ประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ เป็นแหล่งข้อมูลการควบคุมสภาพแวดล้อมและการจัดการอาหารตลอดระยะเวลาการเลี้ยงกุ้ง เพื่อการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต อีก 1 ต้นแบบ เพื่อยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตภาคเกษตรกรในพื้นที่ EEC ให้เทียบเท่ากลุ่มการบริการและภาคอุตสาหกรรม ด้วย วทน. เพื่อหนุนให้การบริหารและส่งเสริมเขตนวัตกรรม EECi เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไป