17-09-2563

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ชมนวัตกรรมการพิมพ์มือเทียมและขาเทียม

   นายวิชิตร์ แสงทองล้วน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบราชการ ได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการบริหาร จัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พร้อมทั้งมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ การสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือสื่อมวลชนขึ้น เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จในพัฒนาระบบราชการไทย และรูปแบบการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีให้แก่หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการบริหารราชการ

   ด้าน ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โรงพยาบาลสิรินธรจังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานภาครัฐ ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2563 จากการพิจารณาของคณะกรรมการการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งในปีนี้จังหวัดขอนแก่นมีหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับรางวัลรวมทั้งหมด 6 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย รางวัลที่ 1 รางวัลเลิศรัฐสาขาบริการภาครัฐ ผลงานเรื่อง ไทยฤทธิ์พิชิตคนพิการ / รางวัลที่ 2 รางวัลบริการภาครัฐระดับดี ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น / รางวัลที่ 3 รางวัลบริการภาครัฐระดับดีขอนแก่น สำนักงานคลังจังหวัดขอนแก่น / รางวัลที่ 4 รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประเภทร่วมใจแก้จนระดับดี คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อยแก้จนคนขอนแก่น / รางวัลที่ 5 รางวัลคุณภาพบริหารจัดการของภาครัฐ 4.0 และ รางวัลที่ 6 รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐรายหมวด

   ขณะที่ นายแพทย์วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมบริการเปลี่ยนชีวิต พิมพ์มือเทียมและขาเทียมช่วยเหลือผู้พิการ โดยกลุ่มผู้ก่อการดีไทยฤทธิ์ ที่รวมตัวกันในโรงพยาบาลสิรินธรจังหวัดขอนแก่น หลังสถานพยาบาลที่ตั้งมากว่า 80 ปี ถูกล้อมรอบด้วยชุมชนผู้พิการขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ “นิคมโรคเรื้อนโนนสมบูรณ์” ซึ่งประชาชนในนิคมคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อจนเกิดความพิการถาวรตลอดชีวิต และในปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยพี่ติดโรคเรื้อนในนิคมอยู่ประมาน 325 คน และที่ผ่านมาพบว่าผู้ติดเชื้อ มีความพิการมือมากถึง 1 ใน 4 ของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยดังกล่าวจึงถูกจำกัดในการเข้ากายอุปกรณ์ ทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต

   นายแพทย์วีระศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การสร้างมือเทียมให้กับผู้พิการใช้แทนมือจริงในชีวิตประจำวัน ผลิตโดยการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติแห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้ใยพลาสติกเป็นวัสดุในการผลิต ซึ่งมีน้ำหนักเบา ซ่อมแซมได้เอง และมีราคาเพียง 1,000 บาท จากราคาปกติที่จำหน่ายตามท้องตลาด สูงถึง 70,000 บาท อีกทั้งรูปแบบของมือเทียมยังใช้กลไกหุ่นกระบอกที่มีเชือกและหนังยางเป็นกลไลหลัก จึงสามารถซ่อมแซมได้ง่าย หรือผลิตได้ใหม่หากมีการชำรุด ด้วยนวัตกรรมดังกล่าวทำให้กลุ่มก่อการดีไทยฤทธิ์ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ได้รับรางวัลเลิศรัฐสาขาบริการภาครัฐ ประจำปี 2563 นี้