18-09-2563

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ประชุมหารือเกี่ยวกับมาตรการด้านการอุดมศึกษา

   ศาตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ตนเองให้ความสำคัญกับการนำเอาองค์ความรู้และนวัตกรรมไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงฯสำหรับข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการสนับสนุนผู้ประกอบการ ที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติหรือ สอวช. ได้นำเสนอเป็นมาตรการที่น่าสนใจ หากมีการวิจัยเชิงลึกเพิ่มเติม ศึกษาความเป็นไปได้ของมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และนำเสนอเป็นสมุดปกขาวต่อรัฐบาล จะเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยเสริมพลัง ในการผลักดันให้เกิดมาตรการต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ สอวช. หากลไกสนับสนุนเรื่อง Digital Transformation โดยร่วมกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ผลักดันให้เกิดการสร้างและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ซึ่งมีความต้องการของตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 มีบัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าตลาดแรงงานจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้โอกาสดังกล่าวดึงบัณฑิตเหล่านั้นมาเพิ่มเติมทักษะ (Re Skill – Up Skill) ด้านดิจิทัลให้มีความพร้อมสำหรับความต้องการของตลาด รวมทั้งมหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการด้วยนอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Big Data โดยเฉพาะในระบบการอุดมศึกษา ที่ควรรวบรวมข้อมูลนิสิต นักศึกษา ทั้งผลการเรียน ทักษะ หลักสูตรที่ผ่านการอบรม ในดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อจะได้สามารถบริหารจัดการข้อมูลด้านการอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน และประเทศโดยรวมได้

   ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม สอวช. จึงได้ผลักดันให้มีการสร้างระบบนิเวศทางการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมขึ้น โดยประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ลงทุนทำวิจัยและนวัตกรรมจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สอวช. ร่วมกับหน่วยงานในระบบได้ผลักดันมาตรการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มาตรการลดหย่อนภาษี 300 % ให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมนวัตกรรม หรือโครงการสนับสนุนให้บุคลากรวิจัยภาครัฐ ไปปฏิบัติงานร่วมกับภาคเอกชน (Talent Mobility) เป็นต้น และในปัจจุบัน สอวช. อยู่ระหว่างการพัฒนา

   มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการอีกหลายมาตรการ เช่น การจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนากลไกสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กในการพัฒนานวัตกรรม (SBIR/STTR) การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญในคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ตลอดจนดำเนินโครงการศึกษาทดลองกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ ๆ และการศึกษาวิจัยเชิงระบบเรื่องการส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไข ปรับปรุง กลไกสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิม ตลอดจนระบุประเด็นที่สำคัญเชิงระบบ เช่น การปลดล็อคข้อกฏหมาย กฎระเบียบ หรือข้อเสนอแนะมาตรการที่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถสร้างนวัตกรรมได้ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป