02-10-2563

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน เชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์ “ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด” 6 ตุลาคมนี้

   นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน สดร. กล่าวว่า ช่วงเดือนกันยายนหากสังเกตท้องฟ้าทางทิศตะวันออกตอนกลางคืน จะเริ่มเห็นดาวอังคาร สว่างเด่นชัดอยู่บนท้องฟ้า โดยดาวอังคาร จะโคจรอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ห่างจากโลกประมาณ 62 ล้านกิโลเมตร สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 10 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างชัดเจน จากนั้นดาวอังคาร จะโคจรอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่ง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคาร จะเรียงตัวอยู่ในเส้นเดียวกัน เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวอังคาร จะโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกพอดี มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร ทำให้สามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป ซึ่งดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกในทุกๆ 2 ปี 2 เดือน และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดทุกๆ 15 - 17 ปี จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมส่องดาวเคราะห์แดงผ่านกล้องโทรทรรศน์ สังเกตพื้นผิวดาวอังคารและน้ำเเข็งขั้วใต้บนดาวอังคาร พร้อมส่องวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ ดาวพฤหัสบดี / ดาวเสาร์ / กระจุกดาวทรงกลม M4 (เอ็มโฟร์) / กระจุกดาวคู่ กาแล็กซีแอนโดรเมดา ณ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ทั้งที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา / หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา / หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา และ Night at the museum เปิดให้เข้าชมนิทรรศการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองช่วงกลางคืน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมเตรียมชมถ่ายทอดสดดาวอังคารใกล้โลกผ่าน “นาริทเฟสบุ๊ค ไลฟ์” ได้ทาง www.facebook.com/NARITPage ด้วย