06-10-2563

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีแถลงผลสำเร็จ โครงการวิจัยดูดซับพื้นที่ฯ สร้างรายได้สู่ชุมชน

 

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือ มทร.ธัญบุรี ร่วมลงนามความร่วมมือระหว่าง มทร.ธัญบุรีกับภาคีชุมชน และแถลงผลสำเร็จการดำเนินโครงการนวัตกรรมการตลาด เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน  ห้อง Ballroom ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ชั้น 7 ศูนย์การค้าบางซื่อจังชั่น เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด กล่าวว่า โครงการวิจัยดูดซับพื้นที่ หรือ ทุนวิจัย สกสวภายใต้โครงการนวัตกรรมการตลาด เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาศูนย์บริการด้านนวัตกรรมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มทร.ธัญบุรี” มีแนวความคิดที่จะศึกษาถึงการนำนวัตกรรมการตลาด มาหาแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมของชุมชน เพื่อให้สามารถจำหน่ายและก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืนภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริการด้านนวัตกรรมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มทร.ธัญบุรี โดยคณะผู้วิจัยเลือกทำการศึกษาคือชุมชน 3 ชุมชนที่มีศักยภาพ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากถ่านไม้ไผ่ “บันตัน” / ชุมชนเกษตรแปลงใหญ่ไผ่เขียว ผลิตหน่อไม้ต้ม / ชุมชนเกษตรแปลงใหญ่ไผ่ตำบลทุ่งโพธิ์ ผลิตหน่อไม้ดองน้ำมะพร้าว ต่อยอดจากงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ผู้ปลูกไผ่ในจังหวัดปราจีนบุรี โดยเมื่อปี 2561 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเดิม ภายใต้โครงการ “การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี” 

 

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด  กล่าวต่อไปว่า ตามที่ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการวิจัยเป็นระยะเวลา 9 เดือน ซึ่งทีมผู้วิจัยได้ดำเนินงาน ในเรื่องของการวิเคราะห์และศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ การเป็นคนกลางในการรับซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพื่อนำมาจัดจำหน่าย ผ่านศูนย์บริการด้านนวัตกรรมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มทร.ธัญบุรี โดยใช้ O2O Model (O2O Model คือโมเดลการพัฒนาช่องทางทั้งรูปแบบ online และ offline เพื่อสร้างช่องทางการจำหน่ายที่ครอบคลุมลูกค้าเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผลักดันยอดขาย คือMobile Application “ishop” และ Website: www.ishop.rmutt.ac.th สร้าง Content บนสื่อ Social ต่างๆ หลายร้อยcontent ทดลองเพิ่มรูปแบบการดำเนินงานใหม่ๆ เช่น ทำอาหาร Delivery เมนูจากหน่อไม้ ขยายร้านค้าให้เพิ่มมากขึ้นสร้างรายได้ให้แก่นักศึกษาและบุคลาการ ผ่านการเป็นตัวแทนจำหน่าย 

 

   ทั้งนี้ ทางทีมวิจัยได้ทดลองสร้างโมเดล 20:10 ขึ้นมา โดยราคาสินค้าที่รับมาจากชุมชนจะถูกบวกเพิ่ม ร้อยละ 30 และนำมาจัดสรรให้แก่ นักศึกษาและบุคลากรที่รับสินค้าไปจำหน่าย