09-10-2563

กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศความพร้อมขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง “สู่มิติใหม่อาชีวศึกษาไทย”

   เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. จัดงาน "อาชีวะยกกำลังสอง" โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวว่า การพัฒนานักเรียน ครู และสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์และกำลังสำคัญของประเทศในวันข้างหน้า เพราะอาชีวศึกษาเป็นการสร้างชาติให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในอนาคตทุกคนต้องสืบทอดและสืบสานในการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และมีงานทำ สถาบันอาชีวศึกษามีหน้าที่ในการผลิตเด็กไปจนโต ซึ่งการพัฒนาเด็กทำงานเพื่ออนาคต รัฐบาลได้มีการหารือว่าจะทำอย่างไร เพราะครูแต่ละยุคสมัยแตกต่างกัน วันนี้ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง โครงการอาชีวะ ยกกำลังสองอาจไม่พอ ต้องเป็นอาชีวะยกกำลังสิบ ที่ทุกภาคส่วนทั้งครู นักเรียน และภาคเอกชนต้องร่วมมือกัน โดยต้องทำทุกอย่าง โดยเฉพาะการขอความร่วมมือภาคเอกชน สถานประกอบการในการฝึกงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ สอดคล้องกับการเรียนในห้องเรียน คือ การเรียนพื้นฐานและการเรียนนอกห้องเรียน เพื่อจะได้ดูว่าเอกชนทำงานอย่างไร ในสาขาที่ตนเองเรียนอยู่ และเป็นการสร้างแรงบันดาล เนื่องจากถ้าไม่เห็นหรือได้สัมผัสกับการทำงานจริง ๆ แรงบันดาลใจก็จะไม่เกิด

   นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โลกวันนี้เปลี่ยนไปมากไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สมองของเราที่ต้องทันสมัย ปรับตัว ปรับความคิดวิสัยทัศน์ไปสู่การสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีตลอดเวลา เพราะการศึกษาเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ จึงต้องไปดูว่าตลาดแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมต้องการคนแบบไหน

   ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีแผนปฎิรูปการศึกษาของไทย จึงได้มีนโยบายในการยกระดับอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ เตรียมความพร้อมในการสร้างทุนมนุษย์ การเรียนการสอนรูปแบบเดิมไม่ตอบโจทย์การทำงาน และมีช่องว่างทางทักษะที่ไม่ตอบสนองการทำงาน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม ทักษะที่จำเป็นให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เปิดกว้างภาครัฐ ภาคเอกชนเตรียมพร้อมในการพัฒนากำลังคน และบุคลากรทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้อาชีวะผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพตามความเป็นเลิศ และบริบทต่อพื้นที่ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานโดยเฉพาะภาคเอกชน ได้มาตั้งศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษาให้ครบ 50 แห่ง ภายในปี 2563 และครบ 100 แห่ง ในปี 2564 ทั่วประเทศ และมีการพัฒนาหลักูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทาง 1 เอกชน 1 วิทยาลัย เพิ่มอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อน มีการเพิ่มทักษะ ประสบการณ์ การเรียนจากสถานที่จริง ยกระดับความสามารถของผู้เรียนจากสถาบันอาชีวศึกษา รวมถึงส่งเสริมให้ผู้เรียนมีรายได้มากขึ้นระหว่างเรียนและหลังจบการศึกษา เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวและการศึกษาไทย