12-10-2563

สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะ สำหรับเด็กที่มีความต้องการ

   นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนัก 9 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กที่มีความต้องการพิเศษในบริบทการศึกษา ซึ่งหลายครั้งเด็กเหล่านี้ถูกละเลยอันเนื่องมาจากความบกพร่อง ที่มีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในวัยเรียนที่สามารถเข้าเรียนรวมได้ ประกอบไปด้วย 4 กลุ่ม อาทิ กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา / กลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ / กลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ และกลุ่มเด็กออทิสติก ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบมากในสถานศึกษาและชุมชนทั่วไป สำหรับปัญหาที่พบด้านการศึกษา ส่วนใหญ่เด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่สามารถเรียนต่อในระบบการศึกษาได้ และอยู่นอกระบบการศึกษา เมื่ออยู่นอกระบบการศึกษาก็ไม่มีระบบส่งเสริมที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกันการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษยังต้องคำนึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของครอบครัว และชุมชน ในการช่วยเตรียมความพร้อมหรือการช่วยเหลือตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แต่รูปแบบการจัดการศึกษาดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน

   นางภรณี กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการนี้ สสส. สนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการ จัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะอย่างรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสติปัญญา ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน ผู้ปกครอง และสถานศึกษา รวมทั้งเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันดูแลและพัฒนาทักษะชีวิต เตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่และการใช้ชีวิตในชุมชนและสังคมก่อให้เกิดพื้นที่/ชุมชนต้นแบบในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษบนฐานเครือข่ายการมีส่วนร่วม ใน 3 พื้นที่ กระจายอยู่ใน 3 ภูมิภาคของประเทศ อาทิ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือ มีต้นทุนทางวิชาการของนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดและมีความเข้มแข็ง

   ด้านความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ // อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ภาคกลาง มีความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนและสถานศึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานระดับจังหวัดและพื้นที่ เชื่อมต่อและขยายผลต่อไป

   ด้าน ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ เครือข่ายความร่วมมือที่เข้ามาร่วมดำเนินงานในโครงการรับฟังเสียงและความต้องการของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษมากขึ้น // มุมมอง-ทัศนคติของชุมชนหรือสังคมในพื้นที่ที่มีต่อเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเป็นไปในเชิงบวกหรือการยอมรับในคุณค่าและความสามารถมากขึ้น // สถานศึกษาและครูปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดการศึกษาและการจัดการเรียนรู้โดยเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้ได้เท่าเทียมกับเด็กปกติมากขึ้น // ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่มีการประสานเชื่อมโยงกันในการรับและส่งต่อเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษให้ได้รับบริการด้านต่าง ๆ อาทิบริการทางการศึกษาและการแพทย์ มากขึ้น // สถานศึกษาและชุมชนมีการขยายผลการดำเนินงานครอบคลุมไปยังเด็กกลุ่มอื่นในสถานศึกษาหรือพื้นที่เดียวกัน โดยไม่แบ่งแยก และหน่วยงานหรือชุมชนในพื้นที่ข้างเคียง มีความสนใจในการนำแนวคิดหรือแนวทางการดำเนินงานไปใช้ในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้เกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดีและขยายผลต่อไป