15-10-2563

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตือนโรครองช้ำ หากไม่ทำการรักษาอาจส่งผลกระทบ ต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ พร้อมแนะวิธีการกายภาพรักษาอาการด้วยตนเองที่บ้าน

   รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธนวัฒน์ วะสีนนท์ อาจารย์ประจำหน่วยเท้าและข้อเท้า ภาควิชา ออโทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โรครองช้ำหรือโรคที่เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นฝ่าเท้า ลักษณะอาการจะปวดรุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น การยืนต่อเนื่องเป็นเวลานาน การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพเท้า และการใช้งานฝ่าเท้าหรือส้นเท้าที่มากเกินไป สำหรับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรครองช้ำ ในระยะเวลา 1 ปี พบมากถึง 1 ล้านคน ร้อยละ 85 รักษาหายโดยไม่ต้องผ่าตัด ร้อยละ 80 หายแล้วไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกหากในระยะเวลา 12 เดือน ผู้ที่มีอาการของโรครองช้ำ จำเป็นที่จะต้องอดทนในการรักษาตนเอง งดกิจกรรมที่ต้องมีการกระแทกลงน้ำหนักที่ส้นเท้า และแนะนำให้ทำการกายภาพเองที่บ้านง่ายๆ 3 ท่า ได้แก่ ท่าที่ 1 ท่ายืดพังผืดใต้ฝ่าเท้า นวดพังผืดบริเวณฝ่าเท้าครั้งละ 1 นาที ทำทั้งหมด 3 ครั้ง โดยพัก 30 วินาที ก่อนเริ่มครั้งถัดไป / ท่าที่ 2 ท่ายืดพังผืดกับกล้ามเนื้อน่องโดยใช้ผ้ายาง โดยการบิดข้อเท้าเข้าด้านใน แล้วใช้ผ้ายืดสำหรับออกกำลังกายดึงบริเวณฝ่าเท้า 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที และท่าที่ 3 ท่ายันกำแพง ยืดกล้ามเนื้อน่องด้านใน โดยการดันกำแพง เหยียดขาข้างที่ปวดไปด้านหลัง บิดข้อเท้าเข้าด้านใน ทำครั้งละ 30 วินาทีทำทั้งหมดสามครั้งโดยพัก 30 วินาที ก่อนเริ่มครั้งถัดไป

   นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาโรครองช้ำอีกหลายรูปแบบ อาทิ การปรับรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปเท้า การทำกายภาพโดยใช้เครื่องมือทันสมัย การฉีดยาเกร็ดเลือด หากอาการไม่ดีขึ้นภายในเวลา 12 เดือน อาจได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ถึงแม้ว่าโรครองช้ำจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่หยุดพักหรือ ทำการรักษา อาจต้องทนทุกข์ทรมานต่ออาการปวดจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และอาจทำให้อาการอักเสบเรื้อรังยุ่งยากต่อการรักษา อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม