26-10-2563

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ชู หลักสูตร APN (เอพีเอ็น) เพื่อเป็นการพัฒนาการพยาบาลผู้ป่วย ที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน

  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล ที่ปรึกษาโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า APN ชื่อเต็มคือ Advanced Practice Nurse ภาษาไทยคือผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง APN เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาสุขภาพของประชาชน มีความซับช้อนมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุ การมีโรคอุบัติใหม่ ร่วมกับ ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีดิจิทัล ผนวกกับความไม่เท่าเทียม ของประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ จึงมีความต้องการพยาบาลที่เชี่ยวชาญในการดูแลและเป็นที่ปรึกษาของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต สร้างระบบการจัดการและประสานการดูแลในทีมสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีคุณภาพและต่อเนื่องทั้งในโรงพยาบาล ที่บ้านและชุมชน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลโดยการวิจัย สร้างนวตกรรมโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

   ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี ประธานผู้บริหารวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูง แห่งประเทศไทย และ รองเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่าหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูง ระดับวุฒิบัตรเป็นหลักสูตรที่มีคุณวุฒิเทียบเท่าปริญญาเอกทางด้านการปฏิบัติการพยาบาล มุ่งพัฒนา ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโททางการพยาบาล ให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเชี่ยวชาญ ใช้เวลาฝึกอบรม 3 ปี หลังจบการศึกษาผู้เข้าฝึกอบรม สามารถจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน มีทักษะการพยาบาลขั้นสูงที่จำเป็นในแต่ละสาขา สามารถปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยโดยตรง มีสมรรถนะเป็นผู้นำทีมในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล สามารถพัฒนาระบบ ออกแบบนวัตกรรม และทำวิจัยทางคลินิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีที่ทำหน้าที่ผลิต APN วุฒิบัตรฯ เราจะเป็นแหล่งสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ APN จากหลักสูตรวุฒิบัตร เป็นผู้นำในการดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือให้พยาบาลวิชาชีพให้สามารถจัดการกับประเด็นปัญหาทางการพยาบาลที่เกิดขึ้นในการดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน โดย 1. เปิดช่องทางสื่อสารทาง social media ได้แก่ Facebook FanPage “APN ชวนคุย” เพื่อเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ สร้างเครือข่าย สร้างทีมในการพัฒนาพยาบาลทั่วประเทศ และช่องทาง Line Official ชื่อว่า “APNbyRSoN” (เอพีเอ็นบายอาร์เอสโอเอ็น) เพื่อเป็นที่ปรึกษาในกรณีที่มีปัญหาเร่งด่วน เรามี APN ที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้ง 10 สาขาคอยตอบคำถาม / จัดประชุมทางวิชาการออนไลน์เดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับพยาบาลวิชาชีพทุกคนที่สนใจโดยไม่มีค่าลงทะเบียน / จัดประชุมวิชาการสัญจร ไปตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพได้มีโอกาสเพิ่มพูนและแลกเปลี่ยนความรู้ และ เป็นตัวกลางในการทำสนับสนุนส่งเสริมการทำวิจัย หรือ R2R ระหว่างพยาบาลวิชาชีพที่สนใจในแต่ละสาขานั้น ๆ สร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการ

   นาวาโทหญิง รัตตินันท์ สิงห์ประเสริฐ ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ กล่าวว่า หลังจากผ่านการฝึกอบรมจากหลักสูตรฯ พวกเราได้ดูแลผู้ป่วยตาม ความเชี่ยวชาญของแต่ละคนได้แก่ กลุ่มโรคกลุ่มเบาหวาน กลุ่มโรคไต กลุ่มมะเร็งศีรษะและลำคอ กลุ่มโรคลำไส้ใหญ่ออสโตมีและบาดแผล กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ศัลยกรรมประสาทสมองกลุ่มโรคระบบประสาท ไขสันหลัง และ กลุ่มผู้ป่วยระยะท้าย เช่น การปรับการใช้อินซูลินตามการบริโภคอาหารในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน การจัดการอาการที่มีอาการบวมในกลุ่มผู้ป่วยโรคไต การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอโดยใช้กลุ่มมิตรภาพบำบัด ส่งเสริมให้ผู้ป่วยและญาติดูแลทวารเทียมได้โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ดูแลจัดการผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมและช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัว ป้องกันและจัดการภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองโป่งพองแตกที่อยู่ในภาวะวิกฤต จัดโปรแกรมส่งเสริมการฟื้นหาย ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนล่าง จัดการความปวดในผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้าน โดยใช้ยามอร์ฟีน ชนิดฉีดใต้ผิวหนัง