27-10-2563

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช แนะผู้ปกครองและสถานศึกษา ระวังเด็กป่วยโรค มือ เท้าปาก

   แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ที่มีความเสี่ยงจะพบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สถานการณ์โรคในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 ตุลาคม 2563 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 984 ราย โดยจะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเป็นเชื้อชนิดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

   แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ไทยเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันโรคมือเท้าปาก สามารถทำได้ ดังนี้ โรงเรียนสถานศึกษา ควรมีการคัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน สอนให้เด็กล้างมือเป็นประจำ หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ / หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ เช่น ภาชนะใส่อาหาร ห้องน้ำ ห้องส้วม ของเล่นต่างๆ / ผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สนามเด็กเล่น ตลาด ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดพักรักษาตัว ที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กอื่นๆ / หากบุตรหลานป่วย ควรแยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ หากบุตรหลานมีอาการข้างต้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422