03-11-2563

คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร

   นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นภายในประเทศที่ผ่านมาหลายครั้ง พบว่าการป้องกันภัยต่าง ๆ ยังไม่สามารถช่วยลดทอนความสูญเสียให้น้อยลงได้มากนัก โดยมักขาดศักยภาพการเชื่อมโยงและบูรณาการกันอย่างเป็นระบบ ด้วยข้อจำกัดหลายประการทั้งเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อน หรือกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยให้ชุมชนมีสิทธิจัดการตัวเอง จึงเกิดเป็นแนวความคิดการระดมความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ เพื่อแก้ไขและพัฒนาสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ให้เท่าทันกับสถานการณ์ภัยพิบัติในปัจจุบันที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎรจะจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบไปด้วย นักวิชาการและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกประกอบการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และกำหนดให้ภาครัฐต้องสนับสนุนทรัพยากรแก่ชุมชนในการจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง

   ด้าน นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช ผู้อำนวยการกองนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า แนวทางการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้กับประชาชน แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะป้องกันควรเริ่มจาก การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสร้างแนวปฏิบัติลด ความเสี่ยงร่วมกัน // การพัฒนาประสิทธิภาพของมาตรการในด้านการอพยพ อาทิ การจัดตั้งศูนย์อพยพเพิ่มมากขึ้น // การพัฒนาระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินสำหรับเมืองที่มีขนาดเล็ก ๆ ลดการกระจุกตัวอยู่แค่เฉพาะเมืองใหญ่ และเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้น ควรมีระบบการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยอย่างทันท่วงที ส่วนในระยะฟื้นฟู ควรจัดให้มีการฟื้นฟูทางสังคม ความเป็นอยู่ทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ การดูแลสถาบันความมั่นคงของครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนควรมีแผนฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน และการบูรณาการกันจากทุกหน่วยงาน

   ขณะที่ นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า มูลนิธิชุมชนไททำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในชุมชน มาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อเสริมความคล่องตัวในการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที โดยเริ่มจากการสนับสนุนให้บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จัดทำแผนรับมือกับภัยพิบัติสึนามิ เกิดการอบรมฟื้นฟูชุมชน และประสานความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดภัยพิบัติซ้ำในอนาคต ปัจจุบันมีพื้นที่นำร่องงานป้องกันภัยพิบัติใน 11 จังหวัด อาทิ จังหวัดอุบลราชธานี /จังหวัดปทุมธานี /จังหวัดสมุทรสาคร /จังหวัดระนอง /จังหวัดพังงา /จังหวัดภูเก็ต /จังหวัดกระบี่ /จังหวัดตรัง /จังหวัดสตูล /จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ซึ่งทุกพื้นที่ต่างมีกลไกการจัดการตัวเอง ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่มากขึ้น แต่จากการทำงานที่ผ่านมายังพบอุปสรรคอีกหลายประการ อาทิ มีประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิ การช่วยเหลือจากรัฐ เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางราชการมายืนยัน หรือกรณีมีความพยายามจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อสนับสนุนส่งเสริมชุมชนเตรียมความพร้อมการจัดการภัยพิบัติ แต่ยังขาดกฎหมายรองรับ ซึ่งมูลนิธิฯ จะ ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร สนับสนุนการปรับแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ เพื่อเสริมศักยภาพการทำงานรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมเสนอแก้ไขกฎหมายให้หน่วยงานรัฐสามารถจัดสรรทรัพยากรลงสู่ชุมชนได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น