03-11-2563

กรมสอบสวนคดีพิเศษ จับมือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมวิจัย และพัฒนาเพิ่มศักยภาพสอบสวนคดีพิเศษ-งานความมั่นคง

   พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ลงนาม “ความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี”ร่วมกับ กระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษและงานความมั่นคง

   ทั้งนี้ อาชญากรรมพิเศษ เป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายแขนง มาช่วยสนับสนุนในการดำเนินการป้องกันและปราบปราม กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพิเศษกับสวทช. เพื่อร่วมกันยกระดับความร่วมมือที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการประสานพลัง ทางวิชาการจากศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์ และระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดเป็นนวัตกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจสืบสวนสอบสวน รวมทั้งสามารถขยายเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อรองรับกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ช่วยในการนำความยุติธรรมและความสงบสุขให้สังคมไทยต่อไป

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีครั้งนี้ สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (National Security and Dual-Use Technology Center: NSD) ร่วมมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2566) เพื่อการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือสำหรับการสืบสวน สอบสวน และการพิสูจน์หลักฐาน ในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของการปฏิบัติงานสืบสวน สอบสวนคดีพิเศษ และงานด้าน ความมั่นคงของประเทศ พร้อมทั้งดำเนินพันธกิจในการสร้างเครือข่ายด้านความมั่นคงของประเทศโดยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศฯ สวทช. ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายและสนับสนุน ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาในส่วนของวิชาการ ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งในส่วนของการเป็นที่ปรึกษา แลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากร ตลอดจนการสัมมนาวิชาการและประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสนับสนุนการสืบสวน สอบสวนคดีพิเศษในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้องค์ความรู้ด้านการพิสูจน์หลักฐาน สำหรับตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่แม่นยำและเกิดประโยชน์และความยุติธรรมต่อสังคมต่อไป