05-11-2563

ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือโครงการคลินิกแก้หนี้ ปรับยา 2 สูตรใหม่ ลดดอกและพักหนี้

   นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผย ผลการประชุมของคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อประเมินผลมาตรการช่วยเหลือที่เรียกว่า "ยา 2 สูตร" คือ การลดดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ ซึ่งได้ดำเนินการใน 6 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.- ก.ย. 2563) ว่า ภาพรวมลูกหนี้ของคลินิกแก้หนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 94 ยังจ่ายค่างวดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบและพักชำระหนี้มีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น สำหรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังมีความไม่แน่นอน คณะกรรมการฯ จึงขยายมาตรการช่วยเหลือออกไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 โดยปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

   ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการคลินิกแก้หนี้ด้วยว่า ขณะนี้สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้วกว่า 24,000 ใบ ครอบคลุมลูกหนี้กว่า 8,300 ราย ซึ่งมีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 3 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 240,000 บาท และขณะนี้มีลูกหนี้ที่รอลงนาม ในสัญญาอีกกว่า 900 ราย และอีก 1,200 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจเช็คข้อมูลกับสถาบันการเงิน คาดว่าในปี 2563 ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการสะสมจะเกิน 10,000 ราย

   สำหรับลูกหนี้ที่ยังคงได้รับผลกระทบ สามารถลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.คลินิกแก้หนี้.com ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่วนลูกหนี้ที่ยังชำระค่างวดได้ในช่วงนี้ โครงการจะกระตุ้นให้ลูกหนี้ชำระค่างวดเข้ามาตามกำลังความสามารถ โดยจะได้รับยาขนานที่สอง คือ ลดดอกเบี้ยร้อยละ 1-2 โดยดอกเบี้ยจะถูกนำไปตัดเงินต้น ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้ทั้งหมดลดลงเร็วขึ้น ในส่วนของประชาชนที่มีหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่สมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ในช่วงนี้จนถึงมิถุนายน 2564 จะได้รับสิทธิ์ลดดอกเบี้ยร้อยละ 1-2 จากโครงการเช่นเดียวกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายจริงอยู่ที่ร้อยละ 2-3