23-11-2563

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เล็ง นำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 47 แห่ง ส่งพืชผักปรุงมื้อกลางวันช่วยน้องอิ่มท้อง

   ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้หารือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์แห่งชาติ ที่ได้มีการจัดทำโปรแกรม Thai School lunch (ไทยสคูลลั๊นช์) ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้โรงเรียนทั่วประเทศจัดสำรับอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ โดยระบบนี้ มีเทคโนโลยี Big Data Analytics (บิ๊กเดต้า แอนนะลิทิคซ) กับ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไออยู่เบื้องหลัง เพื่อช่วยวิเคราะห์ประมวลผลสารอาหาร และแสดงผลเป็นเมนูมื้อกลางวันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบจัดสำรับอัตโนมัตินี้ยังจัดสรรความหลากหลายของชนิดอาหารได้ เพราะอาหารในกลุ่มเดียวกันแม้จะมีสารอาหารหลักเหมือนกัน แต่มักจะมีสารอาหารบางอย่าง เป็นหลักและแตกต่างกันไป ซึ่งเด็กควรได้กินอาหารที่หลากหลาย เช่น อาหารกลุ่มข้าว-แป้ง ให้สารอาหารหลักคือ คาร์โบไฮเดรต แต่ข้าวกล้องจะมีวิตามินบี 1 และใยอาหารมากกว่าข้าวขัดขาว หรืออาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ ให้สารอาหารโปรตีนเป็นหลักพร้อมกับให้ไขมัน แต่ก็มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากน้อยต่างกัน

   สำหรับโปรแกรมดังกล่าวนอกจากจะจัดสำรับอาหารได้อย่างอัตโนมัติแล้วยังสามารถคำนวณได้ว่า จะต้องซื้อวัตถุดิบจำนวนเท่าไหร่ และใช้วัตถุดิบชนิดไหนในการปรุงอาหาร ซึ่งเรามองว่าโรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่งต้องใช้โปรแกรมนี้ในการคำนวณวัตถุดิบและครูผู้ดูแลอาหารกลางวันจะต้องขับรถออกไปซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารให้แก่นักเรียน ซึ่งเมนูบางชนิดอาจหาวัตถุดิบได้ยาก หรือโรงเรียนบางพื้นที่อยู่ห่างไกล ดังนั้น จึงมีความคิดว่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ที่มีอยู่ 47 แห่งจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน บริการจัดส่งวัตถุดิบให้แก่โรงเรียนไว้ใช้ประกอบอาหาร โดยที่ครูไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่ารถ ในการวิ่งหาวัตดุดิบมาปรุงอาหาร เพราะวิทยาลัยเกษตรฯเป็นวิทยาลัยด้านการเกษตรอยู่แล้วซึ่งนอกจากนักศึกษาจะเรียนรู้เรื่องพืชเกษตร และการทำเกษตรกรรมแล้วยังสามารถบูรณการความรู้ และช่วยให้เด็กๆได้อิ่มท้องตามหลักโภชนาการด้วย