27-11-2563

กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ สหรัฐอเมริกา ใช้เทคโนโลยีอวกาศตรวจจับฝุ่นพิษ พร้อมพยากรณ์ปริมาณฝุ่นล่วงหน้า 3 วัน ชี้มีความแม่นยำถึงร้อยละ70

   นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วย ดร.สตีเว่นจี โอลีฟ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาสำนักงานภาคพื้นเอเชีย นายอัสลัม เปอร์เวส รองผู้อำนวยการองค์การบริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ร่วมแถลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบการติดตามประเมินและพยากรณ์คุณภาพอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศ

   นายอรรถพล เจริญชันษา กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการจัดทำระบบการติดตามประเมินและพยากรณ์คุณภาพอากาศโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศ หรือ Mekong Air Quality Explorer (แม่โขง แอร์ ควอลิตี้ เอ็กพลอเรอร์ ) เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหามลพิษอากาศ ผ่านความร่วมมือกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชียโครงการเซอร์เวียร์แม่โขงและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน หรือจิสด้า เพื่อดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มีการดำเนินการควบคุมกำกับดูแลภารกิจตามมาตรการในรูปแบบวอร์รูมซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการยกระดับการดำเนินงานอย่างเข้มงวดให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

   อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อไปว่า ระบบการติดตามประเมินและพยากรณ์คุณภาพอากาศจะช่วยรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทยโดยประมวลผลจากข้อมูลดาวเทียมและระบบแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของนาซ่าราย 3 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรายงานความเข้มข้นของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เชิงพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศพร้อมทั้งมีการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วันร่วมกับการดำเนินงานของจิสด้า ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของไทยที่พัฒนาระบบข้อมูลดาวเทียมเพื่อการติดตามแหล่งกำเนิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จุดความร้อนพื้นที่เผาไหม้การกระจายตัวและทิศทางของฝุ่นละอองซึ่งมีความแม่นยำถึงร้อยละ 70 รวมถึงพฤติกรรมการแพร่กระจายของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เชิงพื้นที่ทั้งในประเทศและรอบประเทศ..(ต่อหน้า 3)

   ที่ความถี่ทุกชั่วโมงสำหรับประกอบการออกคำแนะนำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพนอกจากนี้ระบบการติดตามประเมินและพยากรณ์คุณภาพอากาศยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนข้อมูลให้กับแอพพลิเคชั่น “Burn Check”เพื่อลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรกรรม