04-12-2563

ITAP สวทช. สนับสนุนการยกระดับคุณภาพ “มะม่วงไทย” สู่ผลไม้พรีเมี่ยม เพิ่มช่องทางตลาดไฮเอนด์ ปรับกลยุทธ์ดันยอดขายสู้วิกฤตโควิด

   นางสาวเสาวภา ยุววุฑโฒ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมโครงการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ ITAP สวทช. กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการ ITAP ของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี พ.ศ. 2562-พ.ศ.2563 ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ ITAP ทำงานตอบโจทย์แก้ไขปัญหาร่วมกันกับผู้ประกอบการ โดยประธานวิสาหกิจฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญและเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มคุณภาพผลไม้ไทย ซึ่งแม้จะเกิดวิกฤตโควิด-19 แต่ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้

   ด้านนายราเชนทร์ สุขหวานอารมณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า วิสาหกิจุชมชนฯ จำหน่ายมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 มะม่วง R2E2 (อาร์ทูอีทู) และมหาชนก โดยมีผลผลิตปีละ 200 ตัน จำหน่ายทั้งตลาดในและส่งออกต่างประเทศ มะม่วงของกลุ่มฯ ผ่านการปลูกด้วยมาตรฐาน ThaiGAP คัดบรรจุผ่านมาตรฐาน GMP อย. เมื่อปรึกษากับ ITAP แก้ไขปัญหาและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้พบทางออกด้วยการสร้างห้องบ่มมะม่วงด้วยแก๊สเอทิลีน โดยบ่มมะม่วงได้ครั้งละ 3 ตัน นอกจากจะปลอดภัยต่อทั้งคนงาน ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้มะม่วงมีเนื้อสัมผัสแน่น ไม่เละ ไม่เน่าเสียง่าย เพิ่มระยะเวลาในการวางจำหน่ายได้นานขึ้น ทำให้มีกำไรมากขึ้น และจากวิกฤตโควิด-19 ได้ปรับกลยุทธ์ด้านราคา ทำให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงและชุมชนมีงานทำ และมีรายได้อย่างต่อเนื่อง

   ขณะที่ นายพีรพงษ์ แสงวนางค์กูล นักวิจัยชำนาญการ ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ITAP กล่าวว่า การบ่มผลไม้ด้วยการใช้ถ่านแก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์เป็นวิธีที่เกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคย เป็นวิธีปฏิบัติที่ง่าย แต่ส่งผลกระทบเชิงลบค่อนข้างมาก จากปัญหาดังกล่าว วิสาหกิจฯ ได้ขอคำปรึกษากับโครงการ ITAP เมื่อปี 2562 จึงเกิดเป็นโครงการ “ระบบการควบคุมและบ่มมะม่วงด้วยแก๊สเอทิลีน” เป็นวิธีบ่มผลไม้ทางการค้าที่ใช้กันทั่วไปในต่างประเทศ ส่งผลให้ลดการสูญเสียจากผลเน่า ร้อยละ 12 เหลือ ร้อยละ 7 คิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 บาท ลดค่าใช้จ่ายค่าถ่านก้อนแคลเซียมคาร์ไบด์ 536,426 บาท ต่อ 1 รอบการผลิตมะม่วง มียอดสั่งซื้อมะม่วงเพิ่มขึ้น 193.4 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 3.3 ล้านบาท