08-01-2564

นักวิจัยไทยคิดค้น “PETE เปลปกป้อง”(พีอีทีอี) อุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ทางเดินหายใจ

   นาย พรพิพัฒน์ อยู่สา ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า การระบาดของ ‘โรคโควิด-19’ สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรง ของโรคร้ายที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ขณะเดียวกันคนทั้งโลกยังต้องเฝ้าจับตาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เช่น ซาร์ส, เมอร์ส, และอีโบลา ที่อาจหวนกลับมาระบาดได้ทุกเมื่อ และ ยังไม่นับรวมถึง ‘วัณโรค’ โรคติดต่อร้ายแรงที่ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาโรคนี้สูงที่สุด

   นายพรพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ‘เปลความดันลบ’ คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อหยุดยั้ง การแพร่กระจายของเชื้อโรคระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย แต่ที่ผ่านมาเปลความดันลบทั่วไปในท้องตลาดยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่หลายประการและมีราคาที่สูงเกินกว่าที่สถานพยาบาลหลายแห่งจะรับไหว ล่าสุดนักวิจัยไทยจึงได้คิดค้น “PETE เปลปกป้อง (Patient Isolation and Transportation Chamber)” อุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ นวัตกรรมที่ทลายข้อจำกัดการใช้งานอุปกรณ์และเพิ่มโอกาส ในการเข้าถึงด้วยราคาที่จับต้องได้ โดยผลงานนี้เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยน่าลงทุนที่มีการนำเสนอในงาน Thailand Tech Show 2020

   การทำงานของอุปกรณ์ PETE เป็นเปลความดันลบที่ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย มีลักษณะเป็นโดมพลาสติกใสขนาดพอดีตัวคน และระบบสร้างความดันลบ เพื่อควบคุมการไหลเวียนอากาศภายในเปล เมื่อพาผู้ป่วยขึ้นนอนบนเปลและรูดซิปปิดเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะเปิดระบบปรับค่าความดันอัตโนมัติเพื่อให้อากาศจากภายนอกไหลเวียนเข้าสู่ตัวเปล ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก เมื่ออากาศไหลผ่านผู้ป่วยอาจมีเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาจากการหายใจ อากาศเหล่านั้นจะถูกดูดผ่านแผ่นกรองอากาศ เพื่อกรอง เชื้อโรค และทำการฆ่าเชื้อซ้ำอีกครั้งด้วยแสง UV-C ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก ทำให้มั่นใจได้ว่าอากาศเหล่านั้นปลอดเชื้อ นอกจากระบบฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทีมวิจัยยังพัฒนาตัวเปลให้มีช่องสำหรับร้อยสายเครื่องช่วยหายใจและสายน้ำเกลือเข้าไปยังผู้ป่วย และมีถุงมือสำหรับทำหัตถการ 8 จุดรอบเปล เพื่ออำนวยความสะดวกในการรักษาให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

   นอกจากนี้ ยังมีอีกสามส่วนสำคัญที่ PETE ทลายข้อจำกัดการใช้งานของเปลความดันลบเดิมที่มีทั่วไปในท้องตลาด ส่วนแรกคือระบบ ‘Smart controller’ ทำหน้าที่ควบคุมความดันภายในเปลจึงสามารถใช้งานได้ทั้งบนภาคพื้นและบนอากาศ สามารถตรวจสอบการรั่วไหลของอากาศสู่ภายนอก และแจ้งเตือนการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศเมื่อถึงกำหนด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยของผู้ป่วยและการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อให้ได้มาตรฐาน ส่วนที่สองคือ ‘สามารถนำเปลเข้าเครื่องซีทีสแกนได้’ เนื่องจากไม่มีโลหะ เป็นส่วนประกอบ จึงไม่ต้องพาผู้ป่วยออกจากเปลความดันลบเหมือนกับอุปกรณ์อื่น ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังเครื่องและระบบปรับอากาศของโรงพยาบาล ส่วนสุดท้ายคือ ‘ตัวเปลสามารถพับเก็บลงกระเป๋าและมีน้ำหนักเบา’ ทำให้พกพาได้สะดวกและติดตั้งง่าย เหมาะสมกับการใช้งานในรถพยาบาล ดังนั้นแล้วหากนำเปล มาใช้ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากที่พัก เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้เป็นอย่างดี ช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้บริการสถานพยาบาล

   นายพรพิพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนว่า PETE มีราคาในการผลิต (ต้นแบบ) เพียง 130,000 บาท ซึ่งถูกกว่าผลิตภัณฑ์ของประเทศจีนที่มีราคา 150,000-200,000 บาท หรือประเทศอิสราเอลที่มีราคา 700,000-800,000 บาท โดย PETE เป็นผลงานการวิจัยไทยที่ผ่านการทดสอบคุณภาพ ISO 14644 ซึ่งยืนยันถึงมาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงพร้อมให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุน ในลักษณะการขออนุญาตใช้สิทธิ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นผลิตภัณฑ์เข้าบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อเข้าสู่กลไกการจัดซื้อของหน่วยงานภาครัฐได้อีกด้วย จากการคำนวณความต้องการของตลาดคาดว่าในเฟสแรก PETE จะมีความต้องการไม่ต่ำกว่า 100-150 ชุด ซึ่งในอนาคตผู้ร่วมลงทุนยังสามารถขยายผลต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐและเอกชนซึ่งมีมากกว่า 776 แห่งในประเทศ และสามารถขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

   ทั้งนี้ หากสนใจนวัตกรรม “PETE เปลปกป้อง เคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทันใจ ปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อ” สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค สวทช.