20-01-2564

กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมวางแผนบูรณาการการศึกษา เดินหน้าพลิกคุณภาพการศึกษา ทุกตารางนิ้วทั่วประเทศ

   นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุม การบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งมอบนโยบายแผนบูรณาการการศึกษาทั่วประเทศ ว่า การศึกษาถือเป็นเครื่องมือชี้วัดคุณภาพและศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างทุนมนุษย์ ที่มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาอารยะประเทศ และมีทักษะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของศตวรรษที่ 21 การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่าโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กว่า 15,000 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ทำให้การบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่ ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่สามารถจัดสรรบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนของผู้เรียน

   ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีแนวทางที่จะบูรณาการการศึกษา เพื่อพลิกการศึกษาทุกตารางนิ้ว ของประเทศไทย โดยการผนึกกำลังการทำงานอย่างเป็นเอกภาพของทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ การบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ, การสร้างโรงเรียนคุณภาพให้กับชุมชน, การจัดสรรบุคลากรทางการศึกษาที่มีอยู่ในระบบให้เข้าถึงในทุกโรงเรียน เป็นต้น เพื่อให้เด็กได้เรียนในสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น พร้อมทั้งได้รับการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพจากการที่มีครูครบชั้น ครบวิชา ในส่วนของโรงเรียนก็จะได้รับเงินอุดหนุน ที่สามารถจัดการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญกับวางรากฐานระบบการส่งต่อนักเรียน จากชั้นประถมศึกษา ไปยังระดับ ชั้นมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต

   ทั้งนี้ แผนบูรณาการการศึกษาดังกล่าว ได้มีการลงพื้นที่สำรวจและพัฒนาโดยใช้พื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ ใน 3 แนวทางหลัก คือ แนวทางที่ 1: พัฒนาโรงเรียนคุณภาพชุมชนระดับประถมศึกษา, แนวทางที่ 2: เพิ่มศักยภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ และแนวทางที่ 3: การยกระดับโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ซึ่งในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ฝากให้ตัวแทนจากทั้ง 77 จังหวัด จัดทำแผนพัฒนาในจังหวัดของตนเอง เพื่อนำเสนอแนวทางพัฒนารวมถึงการพิจารณาวางแผนงบประมาณที่ต่อเนื่องต่อไป