01-02-2564

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย แนะส่งเสริมปลูกเลี้ยง “สุคนธรส” เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้มั่นคง ลดผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะยาว

   ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือน อย่างไรก็ตามในวิกฤตดังกล่าวก็มีโอกาสให้กับทุกคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจให้การดำเนินชีวิตก้าวต่อไปได้ในระยะยาว แนวทางหนึ่งซึ่ง วว. มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมภาคเกษตรกรรม ในด้านเกษตรอินทรีย์ วิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร พืชพื้นบ้าน และพืชเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์พืช ทั้งนี้ “สุคนธรส” หรือ “เสาวรสยักษ์” คือ ไม้ผลที่ วว. มองเห็นศักยภาพที่ควรรณรงค์ให้มีการปลูกเลี้ยงเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่

   ปัจจุบันการปลูกเลี้ยงสุคนธรสมีเพียงบางพื้นที่ ทำให้สุคนธรสยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เกษตรกรส่วนใหญ่มักนิยมปลูกสุคนธรสเพื่อการบริโภคเฉพาะภายในครัวเรือน สำหรับการปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นการค้ายังประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพของสายพันธุ์ เนื่องจากต้นพันธุ์สุคนธรสที่ใช้ในการเพาะปลูกทางการค้ายังมีอยู่อย่างจำกัด แต่อย่างไรก็ตามด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามของดอกและขนาดของผลที่ใหญ่โต รวมทั้งประโยชน์ในการแปรรูปเป็นอาหารตั้งแต่ใบ ดอก และผล ทำให้สุคนธรสเป็นผลไม้ทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะในการส่งเสริมปลูกเลี้ยงและนำไปพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคต่อไป

   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้ดำเนินโครงการการปรับปรุงสายพันธุ์สุคนธรสลูกผสม และเสาวรส สายพันธุ์กลายโดยวิธีการฉายรังสี ซึ่งประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงสายพันธุ์สุคนธรส และเสาวรสเพื่อส่งเสริมปลูกเลี้ยงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่าน โดยพื้นที่ในจังหวัดดังกล่าวสามารถปลูกเลี้ยงและเจริญเติบโตได้ดี

   ด้าน ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลสนับสนุนแนวคิดการรณรงค์ให้มีการปลูกเลี้ยงให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ว่า สุคนธรส เป็นพืชสกุลเดียวกับเสาวรส ซึ่งเป็นผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้รักสุขภาพ ไม่ว่าจะรับประทานในรูปของผลสดหรือแปรรูปเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่มที่อุดมไปด้วยวิตามินหลากหลายชนิด ทั้งนี้ “สุคนธรส” มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ดังนี้ เสาวรส (กะทกรกฝรั่ง) สุคนธรส (ภาคกลาง)/แตงกะลา มะแตงสา หรือแตงสา (ภาคกลางและตะวันตก) /บางพื้นที่เรียกว่า กะทกรกยักษ์ หรือเสาวรสยักษ์ เนื่องจากผลมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดากะทกรก (เสาวรส) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสุคนธรส เป็นไม้เถาเลื้อยมีมือเกาะ ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีปีกแคบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ชาวบ้านนิยมนำใบอ่อน ยอดอ่อนมาลวกจิ้มน้ำพริกรับประทาน หรือนำใบมาตากแห้งเป็นชาชงดื่ม แก้ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และลดไขมันในเส้นเลือด ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ กาบดอกหุ้ม สีเขียว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาวอมเขียว เจือสีแดง ดอกมีกลิ่นหอมแรงมาก ผลดิบสีเขียวอ่อนมีขนาดใหญ่ ความยาวผลประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนักผล 0.5 – 1.0 กิโลกรัม รูปทรงกระบอกแกมรีหรือรูปไข่ เนื้อภายนอกของสุคนธรสมีประโยชน์และสรรพคุณหลายอย่าง ผลอ่อนรับประทานเนื้อผล นำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ ผัดใส่ไข่ ต้มจืด แกงเลียง หรือนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริก นอกจากนี้เปลือกผล ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลไม้แช่อิ่มหรืออบแห้ง สำหรับรับประทานเป็นขนมขบเคี้ยว ภายในผลดิบจะมีเมล็ดสีดำที่ถูกหุ้มด้วยรกสีขาว ผลสุกมีสีเหลือง ภายในผลจะมีรสชาติเปรี้ยวอมหวานเช่นเดียวกับเสาวรส แต่อาจจะมีกลิ่นหอมกว่า ชาวบ้านบางพื้นที่นิยมนำเมล็ดไปคลุกกับเกลือก่อนรับประทานเพื่อเพิ่มรสชาติ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม จำหน่ายเป็นสินค้าระดับชุมชน สำหรับเนื้อหุ้มเมล็ดหรือน้ำสุคนธรสอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ด้วยลักษณะของเนื้อหุ้มเมล็ดที่นำมาใช้รับประทานมีปริมาณน้อย จึงทำให้สุคนธรสไม่ได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นการค้าเมื่อเทียบกับเสาวรส วว. จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในพืชดังกล่าวและมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะดีสำหรับการปลูกเลี้ยงเพื่อการค้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำปรึกษาจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 0 2577 9000 หรือที่เว็บไซต์ www.tistr.or.th