16-02-2564

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. สร้างมูลค่า ‘ยางพารา’ จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ยกระดับผลิตภัณฑ์ยางสู่มาตรฐานสากล

   ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า เอ็มเทค ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานจริงและก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีบทบาทในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ยางพารา พืชเศรษฐกิจของประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Economy Model ทั้งนี้เป้าหมายของการวิจัยด้านยางพาราของ เอ็มเทค สวทช. คือการยกระดับภาคการผลิต เพื่อช่วยเกษตรกรและอุตสาหกรรมในระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

   โดยเริ่มจากน้ำยางสดและน้ำยางข้นที่ใช้เทคโนโลยีสารต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ สารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อการแปรรูปยางแผ่น ช่วยลดมลพิษตกค้างในพื้นที่สวนยางกว่า 3,700 ไร่ น้ำยางข้นสำหรับ ผสมกับแอสฟัลต์ซีเมนต์เพื่อทำถนน ทดแทนการใช้น้ำยางข้นทางการค้า มีการนำไปใช้ทำถนนลาดยางกว่า 4,610 กิโลเมตรใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ การนำกลับเนื้อยางจากของเหลือทิ้งและ by product ในอุตสาหกรรมน้ำยางข้นกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่โรงงานน้ำยางข้นเพื่อให้อุตสาหกรรมน้ำยางข้นของไทยเป็นอุตสาหกรรม Zero Rubber Waste จนถึงระดับผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรมหรือใช้ในอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาสูตรยางสำหรับผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพสูงให้มีสมบัติตามความต้องการของอุตสาหกรรม ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามมาตรฐานด้วยต้นทุนในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ และช่วยแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมกว่า 50 บริษัท

   สำหรับในปี 2564 มีงานวิจัยที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบระดับอุตสาหกรรมและพร้อมส่งมอบ ได้แก่ สารช่วยให้น้ำยางจับตัว ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่น ทำเป็นยางก้อนถ้วยที่มีสมบัติเทียบเท่าเดิมและต้นทุนราคา ที่ไม่เพิ่มขึ้น การลดปริมาณโปรตีนในถุงมือยางโดยร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อขยายโอกาสการเปิดตลาดของอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทย และผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่เพื่อการเล่นและการเรียนรู้ อย่างไรก็ตามกระบวนการผลิตยางตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้น ต้องตระหนักถึงการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงได้เตรียมพัฒนากระบวนการผลิตยาง แบบใหม่ ที่เรียกว่า “มาสเตอร์แบตช์ (Masterbatch) ยางธรรมชาติผสมสารตัวเติมด้วยกระบวนการแบบต่อเนื่อง เพื่อรองรับการผลิตยาง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย