22-02-2564

สวทช. จับมือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นำ Digital Healthcare ยกระดับโรงพยาบาลสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะ

   ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ร่วมกับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทางการแพทย์ Digital Healthcare เพื่อยกระดับโรงพยาบาลเข้าสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะ ร่วมพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนให้เกิดผลงานนวัตกรรมทางด้าน Smart Healthcare และ Digital Healthcare ในการเตรียมความพร้อมและปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงานของโรงพยาบาล โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัล ในการเชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศ เป็นระยะเวลา 5 ปี

   ที่ผ่านมา สวทช. ผลักดันงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์รวมไปถึงการร่วมทดสอบผลงานนวัตกรรม ทางการแพทย์ของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม DentiiScan (เดนตี้ สแกน) , เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายทรวงอก BodiiRay S (บอดี้ไอเรย์ เอส), การร่วมวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ให้สารน้ำพร้อมระบบสั่งการด้วยเสียง, การทดสอบประสิทธิภาพการคัดกรองอุณหภูมิด้วยเครื่อง Mutherm (มูเติม) บริเวณประตูทางเข้าโรงพยาบาลตำแหน่งจุดคัดกรองผู้ป่วย และปัจจุบันได้มีการนำระบบ “อยู่ไหน (UNAI)” สําหรับให้บริการข้อมูลตําแหน่งภายในอาคาร เพื่อให้เกิดการขยายผลของการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์สู่การใช้งานในด้านการติดตามตำแหน่งเครื่องมือแพทย์ภายในโรงพยาบาล ร่วมกับระบบติดตามการใช้พลังงานนำไปสู่ระบบการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ความร่วมมือกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนให้เกิดงานวิจัย นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือแพทย์ ซอฟต์แวร์ ทางการแพทย์ เทคโนโลยีด้านการแพทย์แม่นยำ เวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงพัฒนาต่อยอดและผลักดันให้นำไปใช้ในทางปฏิบัติ และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการเสริมความเข้มแข็งของการวิจัยขั้นสูงทางด้านการแพทย์ และผลักดัน การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศ เพื่อสุขภาพ คนไทยโดยคนไทย รวมถึงเพิ่มโอกาสการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และ startup ตามนโยบายโมเดล BCG ที่มุ่งขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจทางการด้านการแพทย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีการค้าโลก

   ด้าน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ระดับตติยภูมิชั้นสูงที่มีศักยภาพในการให้การรักษาได้ครบวงจรทุกสาขาวิชา รวมทั้งเป็นที่รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ให้บริการทั้งประเภทผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งในปี 2563 มีจำนวนเตียงเฉลี่ย 741 เตียง จำนวนครั้งผู้ป่วยนอกมารับบริการเฉลี่ย 5,392 ครั้งต่อวัน อัตราครองเตียงผู้ป่วยในเฉลี่ยร้อยละ 71 ต่อเดือน โดยมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนให้มีความเป็นเลิศในด้านบริการสุขภาพ ด้านบริหาร และด้านวิชาการ และสามารถเป็นที่พึ่งของบุคลากร ประชาชน และสังคม ภายใต้วิสัยทัศน์ “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ 4.0 มุ่งสู่องค์กรแห่งอนาคตเพื่อประชาชน”

   การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มุ่งหวังให้มีกระบวนการวิจัยร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ขึ้นใหม่ รวมถึงพัฒนาต่อยอดจากของเดิม และผลักดันให้นำไปใช้ในทางปฏิบัติ หรือสามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยได้เริ่มจากโครงการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อติดตามตำแหน่งเครื่องมือแพทย์ด้วยแพลทฟอร์ม “อยู่ไหน (UNAI)” และบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงพยาบาลเพื่อทำระบบ Utilization Management (ยูทิไลซ์เซชั่น เมเนจเม้นต์) ของงานเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยคาดหวังว่าจะสามารถขยายผลไปสู่โรงพยาบาลกลุ่ม UHOSNET (ยูโฮสเนต) ที่ดำเนินการวิจัยต้นทุนร่วมกัน ทั้งนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ทางการรักษาพยาบาล งบประมาณ บุคลากร รวมถึงเป็นแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้จากสถานที่และสถานการณ์จริง เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมืออันที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติสูงสุดต่อไป