03-03-2564

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ร่วมกับ บริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด พัฒนาต้นแบบโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน

   พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า ตามที่ได้มอบนโยบายแก่ท่านผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป.ในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดย สทป. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศใน 9 โครงการนำร่อง โดยมีโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน อาวุธปืนเล็กรุ่น DTI7 (ดีทีไอเจ็ด) เป็น 1 ใน 9 โครงการนำร่อง โดยแผนพัฒนาธุรกิจและการร่วมทุนเพื่อรองรับและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และบริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาต้นแบบโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าไปอีกขั้น จากการวิจัยและพัฒนาต้นแบบยุทโธปกรณ์เพื่อสนับสนุนการใช้งานของเหล่าทัพ สู่การวิจัยและพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศร่วมกับภาคเอกชน สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเอง สร้างเศรษฐกิจไทยที่มั่นคงและยั่งยืน

   ด้านพลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า การดำเนินการตามนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการร่วมทุนของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศร่วมกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพภายในประเทศ ถือเป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศของไทยให้เจริญรุดหน้าต่อไปในอนาคต สทป. ได้ริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน อาวุธปืนเล็กรุ่น DTI7 ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนเล็ก โครงการแรกของ สทป. ที่ดำเนินการร่วมกับ บริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนไทย สอดคล้องกับเป้าหมายงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ สนับสนุนความมั่นคงในการพึ่งพาตนเอง และส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย อีกทั้งยังมีคุณภาพสูงทัดเทียมกับปืนมาตรฐานสากลยุคปัจจุบัน เป็นการแสดงศักยภาพของประเทศที่สามารถมีปืนประจำชาติไทยที่ผลิตโดยคนไทยเอง ทัดเทียมนานาประเทศจากความสำเร็จในการทดสอบสมรรถนะการใช้งานของปืน ตามมาตรฐานทางทหาร ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน (อาวุธปืนเล็กรุ่น DTI7) ครั้งนี้ จึงเป็นหลักประกันสำคัญด้านความมั่นคงให้กับประเทศถึงขีดความสามารถในการผลิตและออกแบบอาวุธปืน เพื่อการใช้งานภายในประเทศอีกด้วย

   ทั้งนี้ สทป. ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของบริษัทเอกชนของไทยอื่น ๆ ที่มีองค์ความรู้และความสามารถในการผลิตอาวุธปืนอีกจำนวนมากในประเทศ ที่ยังขาดในเรื่องของการสนับสนุนการทดสอบสมรรถนะการใช้งานของปืน ตามมาตรฐานทางทหาร เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ ผ่านการร่วมทุนในแบบต่าง ๆ หรือจัดตั้งนิติบุคลเพื่อประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานในสายการผลิตของชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ ในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น สปริง ลำกล้อง ชิ้นส่วนงานโลหะอื่นใดโดยเฉพาะเอกชนไทยที่มีองค์ความรู้ขีดความสามารถและเครื่องจักรอยู่แล้ว รวมทั้งยังเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านโลหะวิทยาการและศาสตร์ของการผลิตอาวุธที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไป เช่น อาวุธปืนขนาดใหญ่ อุปกรณ์เสริมสนับสนุน รวมถึงกระบวนการฝึกและซ่อมบำรุง ซึ่งในกระบวนการวิจัยจะมีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศ ที่มีองค์ความรู้ทางวิศวกรรมเพื่อช่วยดำเนินการในการคำนวณและทดสอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมเตรียมการตอบโจทย์ต่อการรับรองผลการทดสอบทางวิชาการอย่างเป็นระบบต่อไป